ติดกินอาหารบางอย่างแบบงอมแงม นี่เรามีอาการเสพติดอาหารอยู่หรือเปล่านะ ลองเช็กให้เคลียร์
พฤติกรรมเสพติดของบางอย่างอาจเป็นความผิดปกติที่สังเกตตัวเองได้ง่าย แต่กับอาการเสพติดอาหารอาจดูไม่ง่ายอย่างนั้นค่ะ เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เรากินอยู่ทุกวันจนบางคนมองว่าการกินอาหารเมนูเดิมๆ นั้นเป็นเรื่องที่ธรรมดาสามัญและไม่เป็นอันตราย จนกว่าจะรู้ตัวว่ามีภาวะเสพติดอาหารก็อ้วนไปไกลแล้ว หรืออาจถึงขั้นไม่ได้กินอาหารชนิดนั้นๆ แล้วหงุดหงิดก็เป็นได้ แต่รู้ไหมว่านี่แหละอาการเสพติดอาหาร หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Food Addiction ล่ะ
เสพติดอาหาร คืออะไร
ภาวะเสพติดอาหารเป็นภาวะที่สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลงคล้ายกับเคสของคนติดยาเสพติดนั่นแหละค่ะ กล่าวคือ เมื่อร่างกายได้กินอาหารที่เสพติดหรือชอบมากๆ แล้ว สมองจะหลั่งสารโดพามีนออกมาทำให้ร่างกายรู้สึกเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ก่อให้เกิดภาวะเสพติดเพราะต้องการจะได้รับความสุขจากการกินอาหารซ้ำๆ อีกครั้ง จนอาจทำให้มีพฤติกรรมกินอาหารประเภทนั้นๆ มากเกินไป บ่อยเกินไป และอาจเกิดภาวะอ้วน ที่มักจะมาพร้อมโรคเรื้อรังอื่นๆ ด้วย เช่น โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
เรามักเสพติดอาหารประเภทไหน ?
ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทไหนก็ทำให้เราเกิดการเสพติดได้ แต่ส่วนใหญ่เรามักจะเสพติดอาหารที่มีน้ำตาลสูง อย่างขนมหวาน ช็อกโกแลต คุกกี้ เบเกอรี่ รวมทั้งอาหารที่มีความเค็มและไขมันสูง อย่าง หมูปิ้ง ไก่ทอด มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว ซอสปรุงรสต่างๆ เพราะเมื่อเรากินเข้าไปแล้วจะทำให้สมองหลั่งสารที่ทำให้เรามีความสุขออกมา จนเกิดการเสพติดอย่างที่กล่าวไปแล้วนั่นเอง
เสพติดอาหาร อาการเป็นอย่างไร
ลองมาเช็กอาการเสพติดอาหารว่าเราเป็นกันอยู่ไหม
1. เลือกซื้ออาหารชนิดนั้นมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
2. กินอาหารชนิดนั้นในปริมาณที่ตัวเองคาดการณ์เอาไว้ หรือกินได้เรื่อยๆ ไม่อยากหยุดกิน
3. รู้สึกอยากกินอาหารชนิดนั้นๆ มากกว่าอาหารชนิดอื่น
4. แม้จะไม่หิวก็รู้สึกอยากกินและกินอาหารชนิดนั้นๆ ได้อย่างสบายๆ
5. หรืออิ่มมากๆ ก็ยังสามารถกินอาหารชนิดนั้นเพิ่มได้อีก
6. จะไม่หยุดกินจนกว่าจะอิ่มถึงที่สุดจริงๆ
7. หากไม่ได้กินอาหารที่ชอบวันไหนจะรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี หรือมีอาการทางกาย เช่น หน้ามืด ใจสั่น มือสั่น ปวดหัว เป็นต้น
8. ขาดสมาธิเมื่อได้กินอาหารชนิดนั้นๆ
9. มีข้ออ้างหรือเหตุผลในการกินอาหารชนิดนั้นๆ เสมอ
10. รู้สึกผิดหลังกินเสร็จแล้ว แต่ไม่นานก็มีพฤติกรรมกินแบบเดิมๆ อยู่เรื่อยๆ
เสพติดอาหาร รักษาอย่างไร
แนวทางการรักษาภาวะเสพติดอาหารสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ดังนี้
1. วางแผนการกินในแต่ละวัน และพยายามกินให้ได้ตามที่วางแผนไว้
2. ลดปริมาณการกินอาหารที่เสพติดให้น้อยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3. พยายามเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น หากติดกินชา ติดน้ำอัดลม ให้เปลี่ยนมากินผลไม้รสหวานแทน พร้อมกับพยายามกินผลไม้น้ำตาลน้อยสลับๆ กันไป
4. จดบันทึกรายการอาหารที่กินในแต่ละวัน แล้วลองเช็กความถี่ในการกินอาหารชนิดเดิมๆ
5. พยายามกินอาหารเมื่อร่างกายต้องการอาหารจริงๆ ไม่ใช่กินเพราะอยากกินเฉยๆ
6. พยายามหลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีอาหารที่เราเสพติดขายอยู่
การห้ามใจให้ได้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเอาชนะอาการเสพติดอาหารได้ในที่สุดนะคะ และหากเช็กอาการแล้วเรา “ใช่” ก็พยายามควบคุมอาหารเอาไว้ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย