หากใครได้เดินทางผ่าน ย่านใจกลางกรุงเทพฯ ใครที่ผ่านไปแถวๆ ประตูผี หรือ ย่านสำราญราษฎร์ คงต้องใช้สะพานนี้สัญจรไปมา แต่อาจจะไม่ทันได้สังเกตว่า สะพานข้ามคลองสีขาวๆ ธรรมดาๆนั้นหากใครสังเกตจะมีชื่อของสะพานอยู่ด้วย ปรากฏชื่อ “สพานสมมตอมรมารค” หลายคนคงไม่เคยเห็นและอ่านไม่ออก และแท้จริงแล้วสะพานนี้อ่านออกเสียงว่าอะไรและความหมายของมันคืออะไร
“สพานสมมตอมรมารค” เป็นสะพานในตำนานแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เพราะชื่อที่ใครมาเห็นจารึกบนสะพานข้ามคลองรอบกรุงตรงประตูผีแล้ว ก็ต้องขยี้ตาแล้วตั้งคำถามว่า “อ่านว่าอะไรแน่”
ถนนบำรุงเมืองทางทิศตะวันตก เมื่อตัดข้ามคลองโอ่งอ่างตรงบริเวณที่เรียกว่า ประตูผี ในต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ มีสะพานเก่าซึ่งใช้โครงเหล็กรองรับพื้นที่ชักเลื่อนออกจากกันได้ตามแบบสะพานรุ่นเก่าที่ยังคำนึงถึงมาตรการป้องกันพระนครโดยอาศัยคูเมือง ในปี ร.ศ. ๑๒๐ ปรากฏว่าสะพานนี้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก ประกอบกับจะได้มีการตัดถนนบาตรขึ้นที่เชิงสะพานด้านทิศตะวันออกรางเหล็กของสะพานเลื่อนเก่าเป็นที่กีดขวางหัวถนนใหม่นี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบัญชาให้กระทรวงโยธาธิการดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง และทรงพระราชทานนามว่า ” สพานสมมตอมรมารค” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ กรมโยธาธิการ สร้างเสร็จในพุทธศักรา๒๔๔๕ จัดเป็นสะพานขนาดกลางที่มีลักษณะงดงามมากสะพานหนึ่ง โดยเฉพาะลวดลายปูนปั้นประดับตัวสะพานและลูกกรงสะพานคอนกรีต”สมมตอมรมารค” อ่านว่า สม-มด-อะ-มอน-มาก แปลแบบตรงๆ ว่า ทางของเทวดาอันสมมติขึ้น หรือแปลอีกทีว่า ทางของพระเจ้าแผ่นดิน (ผู้เป็นสมมติอมร) นั่นเองชื่อสมมตอมรมารค ยังถูกตั้งขึ้นโดยจงใจให้สอดคล้องกับพระนามกรมของกรมพระสมมติอมรพันธุ์ ผู้ทรงมีวังอยู่ในบริเวณนี้ เช่นเดียวกับสะพานดำรงสถิต ซึ่งอยู่ใกล้กับวังของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สพานสมมตอมรมารคนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ร.ศ.๑๒๐ และแล้วเสร็จในปีถัดมา เพื่อแทนสะพานเหล็กเปิดปิดได้อันเดิมที่ทรุดโทรมลง เมื่อแล้วเสร็จก็นับว่าเป็นสะพานที่งดงามทั้งชื่อ และศิลปกรรมตกแต่งสะพานนับเป็นแลนด์มาร์คหนึ่งของย่านประตูผี นอกจากผัดไทย ไข่เจียวปู และเย็นตาโฟนั่นเอง
ลักษณะสะพานในปัจจุบันเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก พนักราวสะพานทั้งสองข้างเป็นคอนกรีตเจาะเป็นช่อง ลูกกรงเป็นปูนปั้นทำเป็นลายวงกลมเกี่ยวพันกัน ๕ วง แต่ละช่องกั้นด้วยรูปจำลองเสาแบบ Ionic ขนาดเล็ก ปลายพนักทั้งสี่ทำลายขดลักษณะเหมือนตัว “S” ขนาดใหญ่ ที่ขอบพื้นสะพานด้านนอกมีลายวงกลมต่อเนื่องกันตลอดแนว มีแผ่นจารึกนามสะพานตั้งอยู่บนพนักราวสะพานทั้งสองข้าง ลักษณะลวดลายประดับของสะพานสมมตอมรมารคนี้งดงามกว่าสะพานดำรงสถิต ได้รับการบูรณะขยายพื้นผิวจราจรบนสะพานในรัชกาลปัจจุบัน