นอกจากอาการปวดท้องประจำเดือนที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องทรมานจนอยากจะตัดมดลูกทิ้งให้มันรู้แล้วรู้รอดไป ยังมีอาการที่น่าเป็นห่วง คือ “ไข้ทับระดู” และอาการที่น่ารำคาญ และทำให้ผู้หญิงหลายคนทรมานไม่แพ้กัน คืออาการ “ท้องเสีย” นั่นเอง
ทำไมผู้หญิงหลายคนถึงมีอาการท้องเสียในช่วงที่มีประจำเดือน?
ถ้าใครยังจำความรู้ที่เคยเรียนมาตอนเด็กๆ ได้ จะทราบดีว่า ช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน หรือใกล้มีประจำเดือน จะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างชัดเจน เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งที่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น หน้าอกมีขนาดใหญ่ขึ้น มีสิวขึ้นบริเวณใบหน้า หรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจไม่เห็นด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจ เช่น อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาจากฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “เอสโตรเจน” และ “โปรเจสเตอโรน” ที่นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวไปแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของคุณผู้หญิงด้วย เช่น ภูมิต้านทานน้อยลง ส่งผลให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อการเป็นหวัด ติดเชื้อในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น หรือมีไข้ หรือส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร จนทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
อาการท้องเสียระหว่างมีประจำเดือน มาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มมากขึ้น บวกกับระดับฮอร์โมนเซโรโทนินที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวได้ แต่ส่วนใหญ่อาการไม่น่าเป็นห่วง อาการท้องเสียจะค่อยๆ หายไปเองหลังจากมีประจำเดือนไปได้ 1-3 วัน
การป้องกันอาการท้องเสียระหว่างมีประจำเดือน
เมื่อในช่วงนี้ระบบย่อยอาหารอาจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนเคย เราจึงควรงดอาหารที่รบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร หรือช่วยให้ร่างกายทำงานได้ง่ายขึ้น ด้วยการงดอาหารที่ทำให้เสาะท้องได้ง่าย เช่น อาหารรสจัด หวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด มันจัด ผลไม่ที่มีรสเปรี้ยวรุนแรง เช่น มะม่วงเปรี้ยว มะขาม มะดัน เครื่องดื่มประเภทนม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดอาการท้องเสียระหว่างมีประจำเดือนได้ ดังนั้นควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ นอกจากเรื่องท้องเสียแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นไข้ทับระดู และยังช่วยลดอาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือนได้อีกด้วย