การมี “บ้าน” เป็นของตัวเองคงเป็นความฝันของใครหลายคน แต่ต้องยอมรับว่า เดี๋ยวนี้ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เราหาบ้านใหม่ทำเลดีๆ ในงบประมาณที่ต้องการได้ยากเหลือเกิน
ในเมื่อเงินที่เรามีอาจไม่เพียงพอสำหรับการซื้อบ้านใหม่ งั้นลองมองหาบ้านมือสองดูบ้างก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจนะคะ เพราะอาจเจอบ้านที่ถูกใจในราคาย่อมเยากว่าที่คิด แต่ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมือสองสักหลัง แนะนำให้พิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนตามคำแนะนำต่อไปนี้ก่อน เพื่อให้เงินที่จ่ายไปคุ้มค่า ได้บ้านที่ตรงใจ ไม่มีปัญหาภายหลัง คนในครอบครัวก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
1. เลือกทำเลให้ดี
เรื่องทำเลที่ตั้งเป็นปัจจัยสำคัญต้นๆ ที่เราต้องคำนึงถึง เพราะเมื่อเลือกไปแล้วจะไม่สามารถย้ายได้อีก ดังนั้นควรเลือกทำเลบ้านที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเราให้มากที่สุด เช่น ถ้าต้องเดินทางอยู่ทุกวัน ก็ควรเลือกบ้านในละแวกที่มีถนนหนทางดี สามารถเดินทางได้สะดวก มีการคมนาคมได้หลายรูปแบบ หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตประจำวันพอสมควร เช่น ใกล้ร้านอาหาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ธนาคาร ฯลฯ
และนอกจากเลือกทำเลบ้านแล้ว ก็อย่าลืมสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้านด้วยนะคะว่าเป็นอย่างไร เช่น พื้นที่รอบๆ นั้นมีน้ำท่วมถึงหรือไม่ ใกล้จุดทิ้งขยะ โรงงาน หรือคลองที่มีน้ำเน่าเสียหรือเปล่า หรืออยู่ใกล้ชุมชนแออัด ที่สำคัญคือ อยู่ในแนวเวนคืนเพื่อโครงการในอนาคตด้วยไหม โดยตรวจสอบได้ที่กรมโยธา, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักงานเขต หรือกรมที่ดิน
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ควรตรวจสอบที่ตั้งของบ้านด้วย อย่างถ้าเราเป็นคนไม่ชอบเสียงดัง ก็ไม่ควรเลือกบ้านที่ติดถนนใหญ่ หรืออยู่ในบริเวณที่มีคนพลุกพล่านมากเกินไป จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอย่างแฮปปี้
2. มองหาขนาดบ้านที่เหมาะสม
หลายคนชอบอยู่บ้านหลังใหญ่ๆ มีพื้นที่กว้างขวาง มีห้องนอนหลายห้อง แต่ถ้าเราเป็นครอบครัวเล็ก มีผู้พักอาศัยอยู่ไม่กี่คน ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกบ้านขนาดใหญ่จนเกินไปก็ได้ เพราะยิ่งบ้านใหญ่เท่าไรก็ยิ่งมีต้นทุนในการดูแลรักษาสูงขึ้น แถมยังต้องเหนื่อยในการตกแต่งและทำความสะอาดให้ทั่วถึงอีกด้วย หรือในอนาคตคิดจะขายต่อ บ้านหลังใหญ่ก็จะหาคนซื้อต่อได้ยากกว่า
3. ตรวจสอบสภาพบ้านก่อนซื้อ
เมื่อเจอบ้านที่ถูกใจทั้งทำเลและขนาดบ้านแล้ว อย่าเพิ่งรีบซื้อหรือโอนกรรมสิทธิ์ โดยที่ยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบสภาพภายในบ้านเด็ดขาด เพราะแม้สภาพบ้านภายนอกจะดูดี แต่อาจมีปัญหาซุกซ่อนอยู่ภายในก็เป็นได้
แนะนำว่าให้ติดต่อเจ้าของบ้าน หรือนายหน้า ขอเข้าไปตรวจสอบสภาพภายในบ้านให้ละเอียดเสียก่อน โดยตรวจสอบทุกจุดอย่างละเอียด ทั้งระบบไฟฟ้า ประปา ส้วม รอยรั่วซึม ประตู หน้าต่าง เพดาน พื้น รวมทั้งความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง อย่างเสา คาน ผนัง กำแพงด้วยว่ามีรอยร้าวหรือทรุดไหม เพราะหากซื้อไปแล้วแต่กลับมาเกิดปัญหาขึ้น เราต้องเสียเงินค่าซ่อมแซมอีกไม่ใช่น้อยๆ
4. สอบถามสาเหตุที่ขายให้ชัดเจน
หลายคนไม่ได้ถามเจ้าของบ้านว่าทำไมถึงขายบ้านหลังนี้ แต่รู้ไหมว่านี่อาจเป็นคำถามสำคัญที่ทำให้ต่อรองราคาได้มากขึ้น เพราะหากเจ้าของบ้านมีความจำเป็นต้องรีบขาย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม เราอาจซื้อบ้านได้ในราคาที่ถูกลง
หรือในกรณีไม่เกี่ยวกับเรื่องราคา ก็อาจมีเหตุผลบางอย่างที่เจ้าของบ้านพยายามปกปิด จึงอยากรีบขายบ้าน ดังนั้น ต้องสอบถามเจ้าของบ้านให้แน่ชัดถึงปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น รวมทั้งพูดคุยกับเพื่อนบ้านไว้หน่อยว่ามีความผิดปกติอะไรไหม เพื่อความสบายใจเมื่อเข้ามาอยู่อาศัย
5. เช็กราคาขายกับราคาประเมิน
คงไม่มีใครอยากซื้อสินค้าในราคาแพงเกินความเป็นจริง ยิ่งเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงอย่างบ้านด้วยแล้ว ต้องเช็กให้ชัดเจนเลยว่า ราคาบ้านที่ประกาศขายเป็นราคาที่รวมอะไรแล้วบ้าง รวมเฟอร์นิเจอร์ ค่าโอนด้วยไหม แล้วนำไปเปรียบเทียบกับราคาประเมินของกรมที่ดิน หรือราคาประเมินของธนาคารอีกทีว่าเหมาะสมไหม แพงเกินไปหรือเปล่าเมื่อเทียบกับบ้านอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงกัน
6. อย่าลืมตรวจสอบเจ้าของกรรมสิทธิ์-การจดจำนอง
อีกข้อสำคัญก็คือ ต้องไม่ลืมตรวจสอบให้ชัดเจนว่า ผู้ที่ขายบ้านและที่ดินให้เราเป็นเจ้าของบ้านตัวจริง หรือเป็นนายหน้าที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์มาจริงๆ ไหม เพราะบางทีอาจเจอผู้แอบอ้างขายบ้าน
นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบโฉนดว่าถูกต้องหรือไม่ มีการปลอมแปลง ถูกอายัด ติดจำนองหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่แล้วบ้านมักจะติดจำนอง หรือยังผ่อนกับธนาคารไม่หมด ซึ่งถ้าให้ธนาคารเข้ามาช่วยประเมินราคา ก็สามารถตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องโฉนดและกรรมสิทธิ์ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีปัญหาตามมาค่ะ
7. อ่านสัญญาให้เคลียร์
ก่อนจะเซ็นชื่อในเอกสารอะไรก็ตาม ต้องอ่านให้ถี่ถ้วน รวมทั้งตกลงกับผู้ขายให้ชัดเจนในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการจดจำนอง โอนกรรมสิทธิ์ ภาษี ค่าส่วนกลาง ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และหลังจากทำสัญญาเรียบร้อยแล้วต้องเก็บเอกสารนี้เอาไว้ให้ดีด้วยนะคะ
ได้ทราบเคล็ดลับดีๆ ในการพิจารณาเลือกซื้อบ้านมือสองแล้ว หากสนใจอยากได้บ้านมือสองสักหลัง แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหนดีถึงจะมั่นใจ แนะนำให้ลองเข้าเว็บไซต์ ghbhomecenter.com ซึ่งรวบรวมบ้านคุณภาพดี ทำเลเด่น ที่เป็นทรัพย์มือสองของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้เราเลือกหลายพันรายการ
ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ คอนโด อพาร์ทเมนต์ อาคารพาณิชย์ ที่ดิน ฯลฯ เราสามารถเลือกค้นหาทรัพย์ที่ต้องการได้เลย วิธีการค้นหาก็ไม่ยาก หากทราบรหัสทรัพย์สิน หรือชื่อโครงการ ก็ให้พิมพ์ในช่องค้นหา หรือถ้าอยากดูว่ามีบ้านหลังไหนน่าสนใจบ้าง ก็แค่เลือกประเภททรัพย์ ช่วงราคาที่ต้องการ ขนาดพื้นที่ใช้สอย อำเภอและจังหวัดที่ต้องการหาบ้าน เท่านี้ก็จะมีบ้านที่ตรงตามเงื่อนไขขึ้นมาให้เลือกมากมาย
ข้อดีของการซื้อบ้านมือสองจากธนาคารก็คือ ราคาบ้านมักจะต่ำกว่าราคาตลาด และขอสินเชื่อกับธนาคารที่ขายได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น บางครั้งอาจได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ และการอำนวยความสะดวกอื่นๆ อีกด้วยนะ ดังนั้นเมื่อเลือกบ้านที่ถูกใจได้แล้ว ก็สามารถติดต่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อขอซื้อทรัพย์ได้เลย ตามขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนการขอซื้อทรัพย์สินรอการขาย
ธนาคารอาคารสงเคราะห์
1. ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามรายละเอียดทรัพย์ เช่น ขอดูสภาพทรัพย์ ราคาเสนอขาย และอื่นๆ
– ทรัพย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ติดต่อที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ อาคาร 1 ชั้น 8 ฝ่ายบริหาร NPA เลขที่ 63 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร. 0-2202-1016, 0-2202-1582-3
– ทรัพย์ในส่วนภูมิภาค ติดต่อที่สาขาของธนาคารที่ตั้งทรัพย์
2. ยื่นคำร้องขอซื้อทรัพย์
3. ชำระเงินประกันการซื้อทรัพย์ตามเงื่อนไขของธนาคาร
– ราคาทรัพย์ไม่เกิน 500,000 บาท ชำระเงินประกัน จำนวน 5,000 บาท
– ราคาทรัพย์เกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท ชำระเงินประกันจำนวน 10,000 บาท
– ราคาทรัพย์เกิน 1,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท ชำระเงินประกัน จำนวน 20,000 บาท
– ราคาทรัพย์เกิน 3,000,000 บาท ขึ้นไป ชำระเงินประกัน จำนวน 50,000 บาท
4. รอพนักงานแจ้งผลการอนุมัติขาย และนัดทำสัญญาจะซื้อจะขาย โดยผู้ซื้อต้องมาติดต่อธนาคารเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งภายใน 30 วัน นับจากวันที่อนุมัติขาย
เอกสารที่ใช้ในการยื่นคำร้อง
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. ทะเบียนบ้าน
3. ใบมอบอำนาจ-บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีผู้ซื้อไม่สามารถมายื่นคำร้องด้วยตนเองได้)
และหากได้บ้านที่ถูกใจแล้ว ก็สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านมือสองได้เลย แล้วความฝันที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลัง จะไม่เป็นเพียงความฝันอีกต่อไป