อากาศร้อนขนาดนี้ ให้ดื่มน้ำอุ่นๆ ไปตลอดทั้งวันคงไม่ไหว แม้ว่าน้ำอุ่น หรือน้ำดื่มในอุณหภูมิห้องจะดีต่อร่างกายเพียงใด แต่การจะดับร้อนให้ได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดายที่สุด คงหนีไม่พ้นการได้อยู่ในห้องแอร์ทั้งวัน และการดื่มเครื่องดื่มเย็นเฉียบ ทีนี้ลองสังเกตตัวเอง และคนรอบข้างดูสิว่า เราบริโภคน้ำแข็งในแต่ละวันกันมากแค่ไหน ถึงขั้นว่าต้องมีน้ำแข็งติดตัวอยู่ตลอดเลยหรือไม่ ปากว่างเมื่อไรเป็นต้องเคี้ยวน้ำแข็งหรือเปล่า ถ้ามีอาการเหล่านี้อยู่บ้าง คุณอาจกำลังเสี่ยง โรคติดน้ำแข็ง
โรคติดน้ำแข็ง คืออะไร?
คุณหมอผิง หรือ พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล ระบุว่า โรคติดน้ำแข็ง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรค Pagophagia เป็นภาษากรีกมาจากคำว่า Pagos ที่แปลว่า น้ำแข็ง บวกกับ Phago ที่แปลว่า กิน เป็นอาการชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยมีนิสัยย้ำคิดย้ำทำกับการกินน้ำแข็งจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ
อาการของผู้ป่วยโรคติดน้ำแข็ง
อาการของผู้ป่วยโรคติดน้ำแข็ง จะมักบริโภคน้ำแข็งอยู่เป็นประจำ เสพติดการเคี้ยวน้ำแข็งตลอดทั้งวัน ไม่สามารถหยุดเคี้ยวได้ หรือมีความอยากจะเคี้ยวน้ำแข็งอยู่ตลอดเวลา มีอาการอยากเคี้ยวน้ำแข็งมากกว่าการอยากดื่มน้ำเย็นๆ ให้ชื่นใจ เครื่องดื่มเย็นจัดก็ยังไม่อาจทำให้รู้สึกพึงพอใจได้ ต้องหาน้ำแข็งมาเคี้ยวเสียงดัง ส่วนใหญ่จะชอบเคี้ยว มากกว่าอมน้ำแข็งเฉยๆ
อันตรายของโรคติดน้ำแข็ง
1. ฟันบิ่น หัก แตก หรืออาจฟันหลุดได้ หากมีอาการกัดก้อนน้ำแข็งไปเรื่อยๆ
2. เมื่อเสพติดการเคี้ยวน้ำแข็ง บางคนอาจเคี้ยวเสียงดังอย่างไม่รู้ตัว หรือไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนทำให้ดูเป็นเรื่องเสียมารยาทบนโต๊ะอาหาร
3. นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ ระบุว่า ผู้ที่ชอบเคี้ยวน้ำแข็งเป็นประจำ อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ความเครียด พฤติกรรมย้ำคิด-ย้ำทำ พัฒนาการผิดปกติในเด็ก เป็นต้น
4. นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์ ระบุว่า อาการชอบกินน้ำแข็ง เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โดย 50% ของผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการชอบเคี้ยวน้ำแข็ง แต่ก็ไม่เสมอไป ต้องมีการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด
5. หากเลือกบริโภคน้ำแข็งที่ไม่สะอาด คุณภาพต่ำว่ามาตรฐาน อาจเสี่ยงติดเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้ท้องร่วงท้องเสีย หรือติดพยาธิจากน้ำแข็งที่แช่อาหารสด รวมถึงสารพิษ สารเคมีอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำแข็งที่ไม่สะอาดอีกด้วย
ชอบเคี้ยวน้ำแข็ง เสี่ยงโรคโลหิตจาง?
การเคี้ยว หรือทานน้ำแข็งจำนวนมาก ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง แต่อาการชอบเคี้ยวน้ำแข็ง เป็นหนึ่งในอาการของโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กต่างหาก
วิธีแก้ปัญหาติดเคี้ยวน้ำแข็ง
1. บังคับตัวเองให้ค่อยๆ ลดปริมาณน้ำแข็งที่ทานในแต่ละวันลงเรื่อยๆ
2. เลือกทานน้ำแข็งก้อนเล็ก และหลีกเลี่ยงการเคี้ยวน้ำแข็งที่ก้อนใหญ่ หรือแข็งมากเกินไป
3. เลือกดื่มน้ำเย็นแทนการเคี้ยวน้ำแข็ง
4. หากไม่สามารถควบคุมนิสัยการทานน้ำแข็งตลอดเวลาของตัวเองได้จริงๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจทั้งร่างกาย ว่าเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหรือไม่ หรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตหรือไม่