โดยทั่วไปอาการปวดประจำเดือน มักเกิด 1-2 วันก่อนมีประจำเดือน หรืออาจเกิดขึ้นในวันที่มีประจำเดือนก็ได้ ซึ่งการเกิดอาการดังกล่าว เกี่ยวข้องกับสารกระตุ้นการอักเสบ Prostaglan din ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ในเลือดประจำเดือนของผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือน มีสารชนิดนี้สูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีอาการปวดถึง 2 เท่า
และนอกจากจะทำให้เกิดการอักเสบแล้ว ยังมีผลทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวมากกว่าปกติ จึงทำให้มีอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน และอาจลามไปที่เอวด้านหลัง ต้นขา หรือในบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และอ่อนเพลียร่วมด้วย ทั้งนี้เมื่อไหร่ที่สาวๆ มีอาการปวดท้องประจำเดือน ก็จะมีความเคยชินว่าจะต้องไปซื้อยามากิน เพื่อบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้น
ซึ่งยาที่สาวๆ คุ้นเคยโดยมีชื่อทางการค้าที่หลายคนรู้จักคือ “พอนสแตน” (Ponstan) มีคุณสมบัติเป็นยาต้านการอักเสบ และบรรเทาปวดระดับน้อยไปจนถึงระดับปานกลาง เช่น ปวดฟันหลังผ่าตัด ปวดประจำเดือน ปวดกระดูก และปวดจากโรคข้อบางชนิด นอกจากนั้นยังใช้ลดอาการไข้ได้ด้วย
หากถามว่ากินพอนสแตนทุกครั้ง เมื่อปวดท้องประจำเดือนจะเป็นอันตรายไหม ขอบอกเลยว่าถ้ากินอย่างต่อเนื่องและเกินปริมาณย่อมมีผลข้างเคียงแน่นอน ดังนั้นสำหรับผู้ใหญ่ขนาดสูงสุดที่รับประทาน คือไม่ควรเกิน 500 มิลลิกรัมต่อครั้ง และไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน อาการปวดทั่วไปไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเกิน 7 วัน
ด้านผลเคียงของการได้รับยานี้อย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดแตก (เลือดจึงออกได้ง่ายและหยุดยาก) โลหิตจาง ภาวะซีด ระคายเคืองในช่องท้อง ท้องผูก บางคนก็ท้องเสีย เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ผิวหนังบวม หอบหืด ปวดศีรษะ ง่วงนอน หงุดหงิด หรืออันตรายถึงขนาดเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ใจสั่น ลมพิษ ภาวะตับและไตทำงานผิดปกติได้อีกด้วย ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคไต ผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือดชนิดต่างๆ เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำ สตรีที่ตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่ผ่าตัดเส้นเลือดที่หัวใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้