บทความต่อไปนี้อ่านแล้วอาจจะทำให้มีข้อคิดในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นได้นะคะ ใครที่กำลังใช้ชีวิตแบบคาดหวังให้คนอื่นๆ รอบตัวเป็นแบบนั้นแบบนี้อย่างที่เราต้องการ และมีสักกี่ครั้งที่เขาเป็นอย่างที่คุณคาดหวัง เป็นแบบที่คุณต้องการ ลองถามตัวเองดูค่ะว่าเหนื่อยมั้ย มีความสุขจริงๆ หรือเปล่า?
“บรูซ ลี” อดีตดารากังฟูชื่อดัง เคยกล่าวว่า “ผมไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคุณ และคุณก็มิได้เกิดมาเพื่อใช้ชีวิตตามความคาดหวังของผม ”
หลายๆ คนอาจะเกิดคำถามว่าแล้วเราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข ลองอ่านบทความ 7 สิ่งที่ควรเลิกคาดหวังจากคนอื่น ต่อไปนี้แล้วนำไปคิดทบทวนดูค่ะ ..
1. เลิกคาดหวังให้คนอื่นเห็นด้วยกับคุณ
“เธอน่าจะเห็นด้วยกับฉันนะ เรื่องดีๆแบบนี้” บางที “เรื่องดีๆแบบนี้” ก็ไม่จำเป็นว่า จะต้องมีคนอื่นเห็นด้วยกับคุณเสมอไป เพราะทุกคนต่างก็มีความคิด มีชีวิตจิตใจของตัวเอง สิ่งที่ถูกต้องดีงามสำหรับคุณ ไม่จำเป็นต้องดีงามเหมาะสมสำหรับคนอื่นเสมอไป ดังนั้น จึงไม่ควรคาดหวังให้คนอื่นเห็นคล้อยตามคุณทุกเรื่อง เพราะว่ายังมีเหตุปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้การมองในสิ่งเดียวกันนั้น เห็นแตกต่างกันออกไป และเมื่อมองในมุมกลับ คุณเองก็คงไม่ได้เห็นด้วยกับคนอื่นทุกเรื่อง..ใช่หรือไม่?
2. เลิกคาดหวังให้คนอื่นมานับถือ
“ทำไมไม่เห็นมีใครนับถือฉันเลย เห็นฉันเป็นอะไรเนี่ย” ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ใหญ่โตแค่ไหน หรือแก่ชราเพียงใด หากคุณทำตัวไม่น่านับถือ น่าศรัทธา การคาดหวังให้คนอื่นมานับถือ ศรัทธา ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น อย่ามัวเสียเวลาแสวงหาความนับถือจากผู้อื่น ถ้าคุณยังไม่ทำตัวเองให้นับถือตนเองได้เสียก่อน หากวันใดที่มองดูตัวเองในกระจกแล้วยกมือไหว้ตัวเองได้อย่างสนิทใจ เมื่อนั้นคุณย่อมได้รับการเคารพนับถือจากผู้อื่นเช่นกัน
3. เลิกคาดหวังให้คนอื่นมาชื่นชม
“โอ๊ย..ทำดีขนาดนี้แล้วยังไม่ชอบเราอีก” คนส่วนใหญ่มักคาดหวังให้คนอื่นมาชื่นชม แต่หลายคนก็ต้องผิดหวัง และเป็นทุกข์ เมื่อสิ่งที่คาดหวังนั้นกลับเป็นตรงกันข้าม ทางพระท่านสอนว่า การทำดี จะมีใครเห็นหรือไม่นั้น ไม่จำเป็น เพราะการกระทำนั้นมันดีแล้วตั้งแต่ที่เราทำ และก็นำความชื่นอกชื่นใจมาให้ผู้ทำเสมอทุกครั้งที่ได้ระลึกถึง ไม่ว่าคนอื่นจะชื่นชมหรือไม่ก็ตาม การคาดหวังว่าคนอื่นจะมาชื่นชมชื่นชอบในการทำดีของคุณ จะทำให้คุณเป็นทุกข์เมื่อไม่มีใครเห็น จำไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่คุณทำเรื่องดีหรือชั่ว ถึงใครไม่เห็น คุณนั่นแหละเห็น
4. เลิกคาดหวังคนอื่น ให้เป็นแบบที่คุณอยากให้เป็น
“ทำไมแกไม่เป็นคนฉลาดแบบเขาบ้างวะ” เมื่อคุณคาดหวังให้คนอื่นเป็นอย่างที่คุณต้องการ คุณก็จะมองไม่เห็นคุณค่าด้านอื่นๆของเขาเลย จริงอยู่เขาอาจจะไม่ฉลาด แต่เขาก็เป็นคนดี ซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนฉลาดอาจไม่มีก็ได้ เพราะฉะนั้น คุณต้องมองให้เห็นสิ่งดีที่เขามีอยู่ (แต่อาจไม่ใช่แบบที่คุณต้องการให้เป็น) เพราะทุกคนมีความงดงามในตัวเองเสมอ เพียงแค่มองทะลุเปลือกนอกเข้าไป ก็จะเห็นตัวตนอันงดงามของเขามากขึ้นเท่านั้น
5. เลิกคาดหวังให้คนอื่นรู้ใจ
“แหม..ไม่รู้เลยหรือไง ว่าวันนี้ฉันอยากกินข้าวขาหมู” เสียงบ่นพึมพำปนหงุดหงิด เมื่อเห็นอาหารที่วางอยู่ตรงหน้าเป็นข้าวมันไก่ที่เพื่อนร่วมงานซื้อมาให้ “ไม่รู้หรือไง..ว่าฉันกำลังหิวข้าว อารมณ์ไม่ดี มาถามอะไรเซ้าซี้อยู่ได้”
“ไม่รู้หรือไง?.ฯลฯ” การคาดหวังให้คนอื่นต้องรู้ใจทุกครั้ง ว่าตอนนี้คุณกำลังคิดหรือรู้สึกเช่นไร ต้องการอะไร แบบไหน เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังสำนวนไทยที่ว่า “รู้หน้า ไม่รู้ใจ” ซึ่งมันทำให้คุณต้องเสียความรู้สึก เสียอารมณ์ เสียใจ และอีกสารพัดจะเสีย ทางที่ดีควรบอกไปตรงๆถึงความรู้สึกและความต้องการของคุณ แล้วคุณจะไม่ผิดหวังอีกเลย
6. เลิกคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงในทันที
“เลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว มิฉะนั้น ฉันจะเลิกกับคุณ” การคาดหวังให้ใครบางคนเลิกทำพฤติกรรมบางอย่างในทันที คุณอาจผิดหวังได้ โปรดจำไว้ว่า ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ หากคนนั้นไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง คุณจึงไม่ควรพยายามไปเปลี่ยนแปลงใคร เพราะเมื่อคุณพยายามเปลี่ยนแปลงคนอื่น แล้วเขายังคงเหมือนเดิม คุณก็จะเป็นทุกข์ แต่หากคุณต้องการเปลี่ยนแปลงเขาจริงๆ ต้องหาวิธีการต่างๆ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใจเย็นๆ อดทน และรอคอย ผลที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้คุณชื่นใจก็เป็นได้
7. เลิกคาดหวังให้คนอื่นต้องเป๊ะทุกเรื่อง
“ทำไมทำงานครั้งนี้ ไม่ดีเหมือนครั้งก่อนล่ะ” ทุกคนล้วนมีด้านมืดและสว่างอยู่ในตัวเอง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปทั้งหมด บางคนปากร้าย แต่ใจดี บางคนร่างกายพิการ แต่สมองเป็นเลิศ ดังนั้น การคาดหวังให้คนอื่นต้องเลิศเลอเพอร์เฟ็ค หรือเป๊ะทุกเรื่องอยู่ตลอดเวลานั้น จึงเป็นการคาดหวังที่มากเกินจริง ที่ทำให้คุณผิดหวังแน่นอน เพราะมนุษย์ปุถุชนย่อมมีรัก โลภ โกรธ หลง เป็นธรรมดา หากเข้าใจความจริงดังนี้แล้ว คุณก็จะรู้จักให้อภัยยามที่เขาทำไม่ดีหรือผิดพลาดไป
ขอบคุณที่มาจาก : นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 185 พฤษภาคม 2559 โดย ประกายรุ้ง,เพจเฟซบุ๊ก: ความสุขประเทศไทย