อาการปวดหลัง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ และทุกช่วงวัย หากมีท่าทางการนั่งที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะวัยทำงานที่ในหนึ่งวันต้องนั่งจมอยู่แต่บนเก้าอี้ ก็จะยิ่งเจอปัญหานี้บ่อยมาก และกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง Gangbeauty ไม่อยากให้เธอมองข้ามนะ เพราะอาการปวดหลัง อาจไม่ใช่แค่นวดยา ทานยา แล้วก็หาย แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย และส่งผลต่อเนื่องไปถึงชีวิตของเธอได้เลยล่ะ เรามาดูกันเถอะว่าการปวดหลัง จะเกี่ยวข้องกับโรคอะไรบ้าง!
1. หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (herniated disc pulposus : HNP)
โรคนี้เกิดจากเจลในหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมา และมันก็ไปกดทับอยู่บนเส้นประสาทไขสันหลัง หรือรากประสาท ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดแล้วสำหรับการปวดหลัง
วิธีสังเกตอาการของโรคนี้
* ปวดหลังหนักมาก ปวดแม้กระทั่งตอนไอ จาม หรือตอนกำลังเบ่งอุจจาระ
* แอ่นหลังไม่ได้เลย ต้องก้มหลังตลอดเวลา
* ปวดหลังจนร้าวลงขา เกิดอาการขาชา
* บางรายไม่ปวดหลัง แต่ขาชาอย่างเดียวก็มี นวดไม่หาย ปวดเหมือนหน่วงขา หนักขา
* ถ้าเรื้อรังจะขาอ่อนแรง รากฐานการยืนไม่มั่นคง หนักสุดคือแค่พูดยังเจ็บหลัง
2. กล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน (acute lower back pain)
โรคนี้แทบไม่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เพราะมันคือโรคที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหลังล้วนๆ แต่อาการกลับคล้ายโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาก แค่จะไม่มีอาการชาที่ขา การปวดกล้ามเนื้อหลังแบบนี้ เกิดจากการก้มๆ เงยๆ ยกของหนัก เคยเกิดอุบัติเหตุกระแทกที่หลังแรงๆ เล่นกีฬาหนักๆ ทำให้กล้ามเนื้อหลังอักเสบฉับพลันทันที
วิธีสังเกตอาการของโรคนี้
* ปวดหลังแบบตึงๆ
* ระบุตำแหน่งที่ปวดหลังไม่ได้ มันปวดไปหมด ซึ่งถ้าเป็นหมอนรองกระดูก จะบอกได้ว่าปวดตรงไหน ความต่างคือตรงนี้
* ต้องเดินหลังเกร็ง แอ่นหลังตลอดเวลา
* กล้ามเนื้อหลังบางครั้งจะเห็นได้ชัดว่าหดเกร็ง
* ก้มหรือแอ่นไม่ได้ ตึงเกินไป
* บางรายก็ปวดหนักจนร้าวลงไปที่ขา แต่อย่าลืมนะว่าขาจะไม่ชา เดินเหินได้ปกติ ขาไม่อ่อนแรง
3. กระดูกสันหลังเสื่อม (spondylosis)
ในระยะแรกจะไม่มีอาการอะไรให้เห็นได้เลย จะมารู้สึกว่าฉันป่วยอีกทีก็ตอนที่ข้อต่อกระดูกสันหลัง เกิดการเสื่อมจนทรุดตัวแล้วจึงจะเริ่มปวดหลัง นอกจากนี้ยังเกิดจากการที่หินปูนที่เกิดจากการซ่อมแซมกระดูกสันหลังที่เสื่อม ตามกลไกของร่างกายนั้น งอกออกมามากเกินไป ทำให้มันไปกดทับประสาทสันหลังเท้า ทำให้ขาชาได้เหมือนโรคหมอนรองกระดูกเลยทีเดียว
วิธีสังเกตอาการของโรคนี้
* ถ้าไปตรวจสุขภาพประจำปี แล้วมีการเอกซเรย์ สักอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเห็นภาพกระดูกสันหลังอยู่ชิดกันมากเกินไป
* รู้สึกเหมือนขัดๆ ภายในข้อ บอกตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน
* ก้มหลังไม่ค่อยได้ จะรู้สึกตึงหลังตอนก้ม ทำให้หลังจะแอ่นตลอด ต่างจากหมอนรองกระดูกนะ สังเกตดีๆ
* รู้สึกชาขาข้างใดช้างหนึ่ง หรืออาจจะทั้ง 2 ข้าง
* เมื่อกดลงไปที่กระดูกสันหลัง จะรู้สึกขัดๆ แค่เฉพาะตอนกดไปโดนข้อที่เสื่อมแล้วเท่าน้ั้น
* ถ้าข้อต่อทรุดหนักมาก อาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบแทรกซ้อน
4. ปวดสะโพกร้าวลงขา (sacroiliac joint dysfunction symptoms)
โรคนี้ก็เป็นกันเยอะพอๆ กับกระดูกสันหลังเสื่อม แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก เพราะอาการคล้ายกระดูกสันหลังเสื่อมมาก ต่างกันตรงที่ตำแหน่งปวดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือตำแหน่งรอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกสันหลังส่วนปลายนั่นเอง
วิธีสังเกตอาการของโรคนี้
* ปวดตรงขอบกระดูกเชิงกราน ใกล้แนวกระดูกสันหลัง
* จะปวดหลังตอนที่นั่งนานๆ
* เวลาเปลี่ยนจากนั่ง ไปเป็นยืน จะปวดเสียวที่หลัง โดยเฉพาะหลังจากขับรถมาเป็นเวลานาน
* เอว 2 ข้างจะสูงต่ำไม่เท่ากัน
* ปวดหลังส่วนล่างร้าวลงที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง
* บางครั้งขาอ่อนแรง เดินอยู่ดีๆ อาจมีเข่าพับไปเฉยๆ
* ปวดตามแนวขอบกางเกงใน
* ไม่มีอาการชาใดๆ
* ถ้าลองกดกระดูกสันหลัง จะรู้สึกปวดราวลงขาถ้ากดตรงช่วงที่ต่อกับกระดูกเชิงกรานเพียงที่เดียว
5. กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome)
โรคนี้พบเยอะมาก แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่ามันคืออาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เพราะมันชา และร้าวลงขาเหมือนกัน ต่างแค่ตำแหน่งที่เส้นประสาทถูกหนีบเท่านั้น ซึ่งก็เกิดจากการที่กล้ามเนื้อมัดลึกในก้นของเรา เกิดการตึงตัวมากจากการนั่งนาน หนีบเอาเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขา ทำให้เกิดอาการขาชา ขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อฝ่อลีบ แต่ถ้าไอ จามจะไม่ได้ปวดอะไร
วิธีสังเกตอาการของโรคนี้
* ปวดลึกที่แก้มก้น หรือก้นย้อย คลำแล้วจะไม่เจ็บเพราะกล้ามเนื้อมันลึกมาก
* ขาจะชาตั้งแต่ก้นลงมา และถ้านั่งนานจะพาลทำให้รู้สึกปวดก้น ชามากขึ้น
* ไม่ปวดหลัง ไอจามก็ไม่ได้ปวดอะไร
* จะรู้สึกปวดตรงก้น ถ้าโดนจิ้มลงไปลึกๆ อาจปวดจนร้าวไปถึงปลายเท้า
* ขาอ่อนแรง รู้สึกตัวเองเหยียบพื้นได้ไม่ค่อยเต็มที่
* ขาสักข้างอาจจะรู้สึกหนักขึ้นมาก ยกไม่ขึ้น
6. กระดูกสันหลังเคลื่อน (spondylolisthesis)
โรคนี้ต้องอาศัยการเอกซเรย์ จึงจะสามารถมองเห็นได้ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากตัวเชื่อมระหว่างปล้องกระดูกสันหลัง กับส่วนหางของกระดูกสันหลังหัก ทำให้ปล้องกระดูกสันหลังเคลื่อนมาด้านหน้ามากกว่าปกติ ใครที่อ้วนลงพุงให้ระวังโรคนี้ไว้ด้วย ขอเตือน
วิธีสังเกตอาการของโรคนี้
* ระยะแรกจะไม่มีอาการอะไรแสดงออกเลย
* ถ้าเคลื่อนเยอะขึ้น จะรู้สึกปวดหลัง ร้าวลงขา
* ถ้าเคลื่อนไปทับเส้นประสาทแล้ว จะขาชา อ่อนแรง
* ยืน เดินนานมากไม่ค่อยได้
7. ปวดหลังจากอวัยวะภายใน
ไม่ใช่แค่โรคทางกระดูกสันหลังเท่านั้นที่จะสามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ แต่โรคอื่นที่เกิดจากการที่อวัยวะภายในมีปัญหา ก็อาจทำให้ปวดหลังได้เหมือนกัน เช่นโรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ โรคไต อย่างไรก็ตาม โรคพวกนี้มักมีอาการปวดท้องควบคู่กับปวดหลัง จึงค่อนข้างสังเกตง่าย
ทางที่ดี ถ้าปวดจนไม่ไหว ก็วิ่งไปหาหมอดีกว่า!