ลึกๆ คุณคิดไหมว่าตัวเองมีความสามารถไม่พอ หรือเก่งไม่จริง ความสำเร็จหรือรางวัลอะไรก็ตามแต่ที่ได้มามันเป็นจังหวะชีวิตหรือโชคช่วยมากกว่าจะเป็นฝีมือของตัวเองล้วนๆ จนก้นบึ้งของความคิดและจิตใจมีความสั่นคลอนเล็กๆ กลัวว่าคนอื่นจะรู้ถึงความกลวงของตัวเอง รู้ว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้แน่อย่างที่เขาเข้าใจ และก่อให้เกิดความหดหู่และเสียความมั่นใจในตัวเองบ่อยๆ งั้นลองมาเช็กกันหน่อยว่าอาการที่คุณเป็นอยู่เข้าข่ายโรคกลัวตัวเองเก่งไม่จริง หรือ Imposter syndrome อยู่หรือเปล่า
Imposter syndrome คืออะไร
Imposter syndrome หรือ Imposter Phenomenon หรือที่ไทยเรียกว่า โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง คิดว่าตัวเองเก่งไม่จริง คือ การคิดว่าตัวเองไม่ได้มีความสามารถจริงๆ ความสำเร็จที่ได้มาไม่ว่าจะในรูปแบบไหนอาจเป็นเพราะฟลุก เพราะโชคช่วย รวมไปถึงคิดว่าตัวเองทำให้คนอื่นเชื่อว่ามีความสามารถ เก่ง ทั้งที่จริงแล้วเราไม่ได้แน่อย่างที่พวกเขาคิดเลย ดังนั้นลึกๆ ในใจผู้ป่วยโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งมักจะกลัวถูกจับได้ว่าเก่งไม่จริง (โดยทั้งหมดเป็นการคิดไปเองแทบจะทั้งสิ้น)
โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ใครเสี่ยงบ้าง
โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งมักเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และแปลกที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสูง คนมีชื่อเสียง นักวิชาการ นักกีฬา พ่อแม่มือใหม่ หรือแม้แต่คนดังระดับโลกก็ยังมีภาวะของโรคนี้ และที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรค Imposter syndrome ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา คนที่เพิ่งเปลี่ยนงานใหม่ หรือในคนทั่วๆ ไปมากขึ้นด้วย
โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง อาการเป็นอย่างไร
1. ภายนอกอาจดูมั่นใจในตัวเอง แต่ลึกๆ แล้วจะไม่เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถ เหมือนประเมินคุณค่าของตัวเองผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะในด้านความสำเร็จในชีวิต หรือการได้มาซึ่งชื่อเสียง ลาภ ยศ ใดๆ ก็ตาม
2. นิยมความสมบูรณ์แบบ มีความคาดหวังที่สูงลิ่ว และหากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่หวังแม้เพียงนิดเดียวก็จะรู้สึกผิดหวัง และนำความผิดพลาดนั้นมาเป็นข้อกังขาในความสามารถของตัวเอง
3. ต้องเป็นผู้รู้ทุกเรื่อง ดังนั้นเขาจะพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพัฒนาทักษะของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ตัวเองดูไร้ความสามารถ
4. คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ยังดีไม่พอ จึงทำๆๆๆ แต่งาน ชนิดโหมงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด แต่ยังไงก็มักจะคิดว่าผลงานที่ออกมายังดีไม่เท่าที่หวังไว้ ทำให้คนกลุ่มนี้เหมือนทำงานไม่เสร็จสักที เพราะมัวรอมาสเตอร์พีซของตัวเอง
5. กลัวความผิดพลาด แม้จะเตรียมตัวดีมากแค่ไหนก็อดที่จะวิตกกังวลไม่ได้ กลัวตัวเองจะทำได้ไม่ดี บ่อยครั้งจึงกลายเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง หลีกเลี่ยงที่จะตกเป็นจุดสนใจของคนอื่น
6. ไม่ไว้ใจใครจึงมักจะทำงานทุกอย่างด้วยตัวเองเสมอๆ
7. เปลี่ยนงานบ่อย เปลี่ยนแฟนบ่อย เพราะกลัวว่าอยู่นานๆ แล้วคนจะจับได้ว่าตัวเองไม่ได้เก่งจริง ไม่ได้ดีจริงอย่างที่คนอื่นคิด
8. หากเจอปัญหาหรืออุปสรรคจะไม่ถาม ไม่ปรึกษาใครทั้งนั้น เพราะคิดว่าการถามคือความล้มเหลว และทำให้เขาดูไร้ความสามารถ
9. พยายามเก่งให้มากกว่าคนอื่นในทุกๆ เรื่อง เปรียบเสมือนตัวเองเป็นซูเปอร์แมนหรือซูเปอร์เกิร์ล เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง
โรคกลัวตัวเองไม่เก่ง อันตรายยังไง
ความน่ากลัวของโรค Imposter syndrome อาจทำให้เกิดอาการหมดไฟในการทำงาน เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยกับการต้องเป็นคนเก่งตลอดเวลา จนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงโรคซึมเศร้า หรือการแก้ปัญหาไม่ถูกทาง เช่น ใช้สารเสพติด ติดเหล้า เพราะหาความสุขในชีวิตตัวเองไม่ได้
โรคกลัวตัวเองไม่เก่ง รักษาได้ไหม
การรักษาโรคกลัวตัวเองไม่เก่งจริงต้องเริ่มจากตัวผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องรู้ตัวและยอมรับว่ามีภาวะของโรคนี้อยู่ ซึ่งหลังจากเข้าใจตัวเองว่าป่วยแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติ เช่น ฝึกยอมรับคำชมจากผู้อื่น พยายามไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร และหัดยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ้าง เพราะไม่มีใครในโลกนี้จะสมบูรณ์แบบไปซะทุกอย่าง ดังนั้นหากเราไม่เก่งในเรื่องหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องล้มเหลว กลับกัน ลองมองข้อดีที่ตัวเองมีอยู่ เพราะเราอาจจะเก่งในเรื่องอื่นๆ ได้อีกหลายด้าน
นอกจากนี้การเปิดใจพูดคุยในสิ่งที่อัดอั้นกับคนใกล้ตัว เพื่อนร่วมงาน หรือใครสักคนที่คุณไว้ใจ ก็อาจจะทำให้ความคิดในแง่ลบเราเปลี่ยนแปลงได้ หรืออาจพบว่าคนใกล้ตัวก็ตกอยู่ในภาวะเดียวกับคุณเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ขอให้คุณจงเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง และเชื่อว่าคุณดีพอกับทุกๆ เรื่อง และหากคุณพยายามทำสิ่งใดจนสำเร็จแล้ว นั่นก็แปลว่าคุณประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตัวเองจริงๆ ไม่ใช่โชคชะตาอย่างเดียว และขอให้ชื่นชมยินดีกับความสำเร็จนั้นอย่างเต็มภาคภูมิ 🙂