เส้นเลือดขอด ลักษณะคือเส้นเลือดที่ปูดเขียวคล้ำตามแขนตามขา สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของลิ้น (Valve) เล็กๆ ในหลอดเลือดดำ ไม่สามารถสกัดกั้นการไหลย้อนของเลือดได้ จึงทำให้เลือดเกิดการคั่งอยู่ในหลอดเลือดส่วนปลาย ได้แก่ส่วนที่อยู่ใกล้ผิวหนังทำให้เห็นเป็นเส้นเลือดที่โป่งพองเป็นก้อน หรือเป็นเส้นเลือดฝอยแตกคล้ายแผนที่หรือใยแมงมุม
ตำแหน่งที่พบบ่อยๆ คือ บริเวณน่อง ,ขาพับ ,โคนขา และบริเวณระหว่างตาตุ่มขึ้นไปถึงสะโพกซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้เรียวขาดูไม่เรียบและไม่สวยงาม ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะเป็นมากขึ้น และอาจมีอาการเจ็บปวดในบริเวณนั้น เส้นเลือดขอด ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
การรักษาเส้นเลือดขอดมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพื่อความสวยงาม และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเส้นเลือดขอดมากขึ้น ซึ่งการจะรักษาด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของเส้นเลือดขอด ดุลยพินิจของแพทย์ และความต้องการของผู้ป่วย
1.การใช้ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดจะมีประโยชน์สำหรับเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มต้นหรือการใช้ร่วมภายหลังการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แต่จะไม่สามารถป้องกันการเกิดหรือทำให้เส้นเลือดขอดที่มีอยู่หายไปได้
2.การฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดเพื่อให้เส้นเลือดตีบตัน (Sclerotherapy) สามารถรักษาได้ทั้งเส้นเลือดขอดและเส้นเลือดฝอยที่ขา โดยจะเป็นการฉีดยา (ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการทำลายผนัง (Endothelium) ของเส้นเลือดขอด) เข้าไปในเส้นเลือดดำที่ขอดเพื่อทำให้ผนังเส้นเลือดบวมและติดกันจนเลือดไม่สามารถไหลผ่านไปได้และเกิดการแข็งตัวจนตีบตันในที่สุด เพียง 2-3 สัปดาห์เส้นเลือดขอดที่โป่งพองก็จะยุบและจางหายไป
3.การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก (Varicose vein stripping) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมและยังคงเป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยเส้นเลือดขอด โดยจะเป็นการผ่าตัดดึงเอาเส้นเลือดที่ขอดออกไปตลอดทั้งเส้นเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก วิธีนี้จะเหมาะสำหรับการรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่และมีขนาดยาวมากๆ และไม่สามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดได้
4.การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์ เป็นการรักษาด้วยเครื่องเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่น 1,064 นาโนเมตร ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการรักษาที่ไม่ทำให้เกิดบาดแผลและไม่มีแผลเป็น สามารถรักษาเส้นเลือดขอดได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร และผู้ป่วยที่กลัวการฉีดยาหรือการผ่าตัด
5.ยารับประทานบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด เพราะมีการวิจัยออกมาว่า การรับประทานยาในกลุ่มไดออสมิน (Diosmin) และเฮสเพอริดิน (Hesperidin) จะทำหน้าที่ยับยั้งกระบวนการอักเสบให้ลดลงและทำให้ลิ้นในเส้นเลือดกลับมาเป็นปกติได้ โดยเฉพาะในเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กๆ ดังนั้น ถ้ารักษาตั้งแต่ระยะแรกยานี้ก็อาจช่วยรักษาให้หายได้
แต่ถ้ามารักษาตอนระยะที่เป็นเส้นเลือดขอดรุนแรงแล้วจะต้องมีการรักษาอื่นๆ เสริมนอกจากการใช้ยาดังกล่าวที่จะให้เพื่อยับยั้งการเป็นมากขึ้นด้วย เช่น การฉีดยา หรือการใช้คลื่นวิทยุทำลายเส้นเลือดขอดเหล่านั้น
ส่วนครีมหรือยาทาเพื่อรักษาเส้นเลือดขอดนั้นยังไม่มีงานวิจัยในมนุษย์ว่าได้ผลเป็นที่ชัดเจน เพียงแต่จะช่วยบรรเทาอาการปวดบวมได้เท่านั้น จึงไม่ขอแนะนำ
คำแนะนำในการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเส้นเลือดขอด
1.หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องขยับขา เหยียดขา หรือลุกเดินบ่อยๆ และในขณะนั่งให้บริหารข้อเท้าตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกาสลับกัน และเหยียดเท้าและกระดกเท้าสลับกันไป
2.ไม่นั่งไขว่ห้างหรือนั่งห้อยเท้าเป็นเวลานานๆ เพราะจะทำให้เลือดมีการไหลย้อนกลับไปที่บริเวณขามากขึ้น
3.พยายามนั่งหรือนอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอกเพื่อช่วยให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น
4.ใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด (Compression stocking) หรือใช้ผ้าพันแผลชนิดยืด (Elastic bandage) พันรอบขาจากปลายเท้าขึ้นมาถึงใต้เข่าในระหว่างที่ต้องยืนทำงานเป็นเวลานานๆ
5.ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น
6.ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง เลือกใส่รองเท้าส้นเตี้ยซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ดีกว่ารองเท้าส้นสูง
7.สำหรับคนอ้วนต้องหาทางลดน้ำหนักอย่างเหมาะสมและถูกวิธี แต่ถ้าไม่อ้วนต้องควบคุมน้ำหนักให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดโรคอ้วนและมีน้ำหนักตัวเกิน
8.ควบคุมอาการท้องผูกให้ดี โดยการรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น
9.เคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรแก่สุขภาพ เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและเพิ่มประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อขา
10.สำหรับผู้ที่เริ่มเป็นเส้นเลือดขอดในระยะแรก การป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวมา สามารถป้องกันได้ด้วยการใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดหรือรัดเท้าด้วยผ้ายืดในขณะที่ยืนทำงานหรือในระหว่างที่มีการตั้งครรภ์
11.หมั่นสังเกตภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อที่จะได้ไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที เช่น แผลเรื้อรังที่บริเวณขา การอักเสบของเส้นเลือดขอด การมีเลือดออก ขาบวม ปวดขา เป็นต้น
12.ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการเส้นเลือดขอดโป่งพองมาก ผิวหนังแดง ร้อน และเจ็บ (แสดงว่ามีการอักเสบ), มีเลือดออกจากเส้นเลือดขอด, เกิดแผลและผื่นใกล้กับข้อเท้า, ผิวหนังบริเวณข้อเท้า หน้าแข้ง และน่องหนา และมีสีคล้ำ, อาการเส้นเลือดขอดรบกวนคุณภาพชีวิต, มีอาการปวดน่องมาก, ภาพที่ปรากฏดูน่าเกลียด หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ
13.ถ้ามีเลือดไหลจากเส้นเลือดขอด ให้นั่งหรือนอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอก และใช้ผ้าสะอาดกดแรงๆ ตรงรอยแผลที่มีเลือดออก เมื่อเลือดหยุดไหลแล้วให้ทำความสะอาดแผลแบบบาดแผลสดทั่วๆ ไป