หากพูดถึงโรค SAD หรือโรค Seasonal Affective Disorder อาจฟังดูเป็นโรคที่ไม่ค่อยคุ้นหูนัก และมีผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยจำนวนไม่มาก แต่โรคซึมเศร้าที่เกิดจากสภาวะอากาศนั้นถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยทีเดียวในประเทศที่มีสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งอาการซึมเศร้าเหล่านี้มักเกิดขึ้นในฤดูหนาวเป็นส่วนใหญ่ หรือที่เรียกว่า Winter blues ซึ่งทำให้คนไทยที่ต้องไปอาศัยอยู่ต่างประเทศหรือเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเป็นเวลานานนั้นอาจได้รับผลกระทบนี้ได้ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนจะไปเที่ยวรับลมหนาวควรศึกษาข้อมูลของโรค SAD เพื่อเตรียมรับมือไว้ด้วย โดยอาการ SAD จากอากาศเปลี่ยนแปลงจะมีลักษณะอย่างไรบ้างนั้นเรา มีวิธีการสังเกตง่ายๆ มาฝากกันค่ะ
1. จู่ๆ ก็เศร้า
อาการซึมเศร้าจากโรค SAD นั้น จะต่างจากอาการเศร้าแบบธรรมดาตรงที่มักจะเกิดขึ้นแบบไม่มีสาเหตุ แถมมีทีท่าว่าจะไม่หายไปง่ายๆ โดยหากคุณพบว่าอาการซึมๆ หม่นๆ ของคุณนั้นดำเนินติดต่อกันมานานกว่า 2 สัปดาห์และมีอาการติดต่อกันทุกวันในช่วงหน้าหนาว เป็นไปได้ว่าคุณประสบกับอาการ Winter blues เข้าให้แล้วค่ะ
2. เอาแต่นอน
ถือเป็นเรื่องปกติที่หน้าหนาวจะทำให้คนอยากนอนนานขึ้นกว่าหน้าร้อนและหน้าฝน แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรค SAD นั้นจะมีระยะเวลาการนอนที่นานเกินกว่าปกติ แถมเป็นการนอนจากอาการซึมมากกว่าจะเป็นการนอนเพื่อพักผ่อนค่ะ ดังนั้น แทนที่การนอนมากจะทำให้ตื่นมาสดใส แต่กลับยิ่งทำให้มีอาการซึมเศร้าลงกว่าเดิมแทน
3. อารมณ์เสีย
มีการสำรวจพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรค SAD จากอากาศหนาวนั้น มักจะมีอารมณ์แปรปรวนมากกว่าปกติ แถมยังมีแนวโน้มที่จะอารมณ์เสียได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นและมืดครึ้ม โดยมักจะมีอาการติดต่อกันตลอดช่วงหน้าหนาวเลยทีเดียว
4. กินไม่หยุด
ผู้ป่วยโรค SAD กว่าร้อยละ 60 นั้น มีอาการอยากอาหารมากกว่าปกติ โดยเป็นผลมาจาก การตอบสนองของร่างกายเมื่อสารเซโรโทนินในสมองลดลง ซึ่งการกินนั้นอาจสามารถปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นเพียงชั่วขณะ จึงไม่แปลกที่ผู้ป่วยโรค SAD จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหลายกิโลทีเดียวในช่วงฤดูหนาว
5. ไม่มีสมาธิ
อาการซึมเศร้านั้นนอกจากจะทำให้รู้สึกเศร้าและเหงามากขึ้นแล้ว ยังอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของสมองลดลงด้วย โดยอาจส่งผลกระทบต่อสมาธิการเรียนหรือการทำงาน รวมทั้งส่งผลทางลบต่อความสามารถในด้านความจำและการสื่อสารอีกด้วย
6. มีปัญหาการเข้าสังคม
ถึงแม้ว่าอากาศหนาวอาจส่งผลให้มีอารมณ์เหงาๆ ไปบ้าง แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนบุคลิกของคนไปจากเดิมมากนัก ซึ่งหากในหน้าหนาว จู่ๆ คุณก็เปลี่ยนจากคนร่าเริงไปเป็นคนเงียบและชอบแยกตัว นั่นเป็นไปได้ว่าคุณอาจถูกโรคซึมเศร้าจากหน้าหนาวเข้าคุกคามแล้วก็เป็นได้ค่ะ
ความจริงแล้วอาการซึมเศร้าจากโรค SAD (Seasonal Affective Disorder) นั้น ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่เชื่อมโยงได้อย่างชัดเจน แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปในที่ซึ่งมีภูมิอากาศหนาวเย็น ก็ควรป้องกันตัวเองจากโรคนี้ด้วยการจัดสรรเวลาในการรับแสงแดดในช่วงกลางวันให้เพียงพอ รวมทั้งการหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายจากสภาพอากาศ แต่หากรู้สึกได้ว่าตนเองเริ่มมีอาการด้านอารมณ์ที่ผิดปกติตามข้อมูลที่เรา นำมาฝากด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรละเลยที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแนวทางในการรักษาที่ถูกต้องค่ะ