ความพอดี มีอยู่ที่ไหน
เรามักถูกสอนให้มองด้านดีว่า แก้วน้ำที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วนั้น มีน้ำเหลือตั้งครึ่งแก้ว มากกว่าที่จะมองว่าน้ำหายไปครึ่งแก้ว แต่จะมองด้านไหนก็ตาม ก็ทำให้เราคิดว่าแก้วยังขาด พร่อง ยังต้องหาน้ำมาเติมให้เต็ม
ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราจะรู้สึกว่า เรายังมีไม่พอ ต้องมีนั่น มีนี่ เสียก่อน แล้วเราจะอิ่ม จะเต็ม สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยถูกสอนก็คือ ไม่ว่าเราจะพัฒนาความสามารถ ในการหาเงิน หาของ หาความรัก ให้ได้มากสักเท่าไหร่ก็ตาม น้ำในแก้วก็ไม่มีวันเต็ม เพราะความอยากในใจเราไม่เคยหยุด แก้วของเราก็จะโตขึ้น ไปเรื่อยๆ ไม่เคยพอ
เมื่อก่อนที่เราคิดว่า ถ้าเรามีเงินล้าน เราจะมีความสุข พอเรามีเข้าจริงๆปริมาณความต้องการ มาตรฐานการครองชีพ ความเป็นอยู่ของเราก็โตรุดหน้าไป จนเราต้องหาเพิ่มตลอดเวลา ซึ่งอย่าว่าแต่คนมีเงิน 10 ล้าน 100 ล้าน ขนาดคนที่มีเป็นหมื่นล้าน ยังหาเงินอย่างไม่รู้จักอิ่มรู้จักพอ รวมทั้งคนที่เรารักหนักหนา ยากลำบากกว่าจะได้มา พออยู่กันไปนานๆ ใจเราก็เรียกร้อง มากขึ้นๆ เห็นจุดอ่อนข้อบกพร่อง ไม่อิ่ม ไม่เต็มได้ตลอดเวลา แก้วน้ำหรือความอยากในใจเรา ไม่เคยหยุดโต หาเท่าไหร่ก็ไม่เคยเต็ม
เคล็ดลับของความสุขก็คือ เราพยายามอย่างเต็มที่ในการหาเงิน หาความรัก เหมือนหาน้ำมาใส่แก้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับขนาดของแก้วให้พอดีกับน้ำ ให้ใจเราสามารถที่จะมีความสุขสงบพอใจกับขณะนี้ เดี๋ยวนี้ โดยไม่ต้องรออนาคต ถ้าเรามีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว แต่เราสามารถลดขนาดของแก้วน้ำลง จนเหลือเพียง 1 ใน 4 น้ำที่มีครึ่งแก้ว ก็จะล้นมีเกินอยู่อีกเท่าตัว มีเกินพอสำหรับเรา และ พอที่จะแบ่งให้คนอื่นเมื่อเราเต็ม เราก็ไม่ต้องไปวิ่งหาน้ำมาเติมอีก มีเวลาเหลือเฟือให้คนที่เรารัก ให้กับสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตเราอย่างแท้จริง
การลดขนาดของแก้วน้ำก็คือ การที่เราหมั่นตามรู้ ตามดูจิตใจ ความรู้สึก ความคิดของเราแต่ละขณะที่เรารู้ทันใจเราที่อยากได้ อยากให้คนอื่นคิดให้ถูกใจเราทุกขณะที่เรารู้ทัน ความอยากจะทำงานไม่ได้ เราก็ได้ลดขนาดของแก้วลงทุกขณะ ที่เรามีความรู้สึกตัว ชีวิตเราก็จะเป็นแก้วที่อิ่มเต็มพอดี พอเพียงมีความสุขมั่นคง