หลายคนคงจะชอบกินน้ำหวานๆ เย็นๆ เพราะอากาศบ้านเราร้อน โดยเฉพาะน้ำชงตามร้านริมทางหรือรถเข็นที่มีให้เลือกมากมายหลากหลายรสชาติ ถึงขั้นที่บางคนต้องกินทุกวันเพราะเสพติดความหวานจากน้ำตาลโดยไม่รู้ตัว ซึ่งผลของการที่บริโภทน้ำตาลมากไปนั้น นอกจากจะทำให้อ้วนแล้วยังอาจส่งผลทำให้คุณเป็นโรคร้ายแรงได้ด้วย ซึ่งจะมีน้ำชนิดใดที่ควรเลี่ยงนั้นตาม Gang Beauty ไปดูพร้อมๆ กันเลยจ้า..
สสส. สำรวจ 62 ร้านขายเครื่องดื่ม 3 ถนนหลักเมืองกรุง พบคนทำงาน นักศึกษานิยม 5 อันดับน้ำตาลสูงสุด แดงโซดา โอวัลติน-ชามะนาว-ชาดำเย็น-นมเย็น เสี่ยงโรคเบาหวาน ความดัน อันตรายไม่รู้ตัว
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากผลการสำรวจปริมาณน้ำตาลในร้านขายเครื่องดื่มบนถนนสายเศรษฐกิจ เนื่องในวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี พบว่าปริมาณน้ำตาลของร้านขายเครื่องดื่มบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท ถนนราชวิถีรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนสีลม
เพื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม 1 แก้ว ปริมาณ 250 มิลลิลิตร (มล.) จำนวน 62 ร้านค้า โดยเก็บตัวอย่างเมนูยอดนิยม 1 ใน 5 อันดับ และเครื่องดื่มที่มาจากร้านที่ให้ความร่วมมือในการวิจัย รวม 270 ตัวอย่าง พบว่า เครื่องดื่มข้างทาง ที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ
1. แดงโซดา
ปริมาณน้ำตาล 15.5 ช้อนชา
2. โอวัลติน
13.3 ช้อนชา
3. ชามะนาว
12.6 ช้อนชา
4. ชาดำเย็น
12.5 ช้อนชา
5. นมเย็น
12.3 ช้อนชา
ส่วน ชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 11 ช้อนชา และ โกโก้มีปริมาณน้ำตาล 10.8 ช้อนชา
โดยเครื่องดื่มบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด รองลงมาคือวิทยาเขตพญาไท และถนนสีลม ตามลำดับ ซึ่งมาจากความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความนิยมของบุคคล
ศ.พญ.ชุติมา กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าองค์การอนามัยโลกแนะนำ ไม่ควรบริโภคน้ำตาลจากอาหารทุกชนิดเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่จากผลการสำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มย่านการค้าและใจกลางเมืองกลับพบว่า เพียงบริโภคเครื่องดื่มหวาน 1 แก้ว (250 มล.) ก็มีปริมาณน้ำตาลที่เกินความต้องการที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันเกือบเท่าตัว นอกจากนี้จากเดิมที่คาดว่า เครื่องดื่มประเภทขุ่นที่มีส่วนผสมของนม นมข้นหวานหรือครีมเทียมจะมีปริมาณน้ำตาลมากกว่า แต่กลับพบว่าเครื่องดื่มประเภทใสกลับมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า ซึ่งอาจเนื่องจากชามะนาวที่รสเปรี้ยวของมะนาว ทำให้ต้องใส่น้ำตาลเพิ่มความหวานมากขึ้น
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า พฤติกรรมบริโภคเครื่องดื่มหวานบนถนนสายเศรษฐกิจสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนวัยทำงานและนักศึกษา ซึ่งถือเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศ เป็นสัญญาณอันตรายโดยไม่รู้ตัว เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารอาหารน้อย แต่มีน้ำตาลและไขมันสูง ซึ่งเป็นรากของปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ทั้งเบาหวาน ความดัน จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้ความรู้มากขึ้น