พ่อแม่จะมีคนใหม่ จะพูดกับลูกอย่างไรดี?
พ่อแม่จะมีคนใหม่ จะพูดกับลูกอย่างไรดี? นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ บอกเล่าถึงการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไว้ ในหนังสือ “สุดยอดเคล็ดลับพัฒนาลูก”
Q: กรณีคุณพ่อหรือคุณแม่ตัดสินใจจะมีชีวิตคู่อีกครั้ง โดยที่ลูกโตแล้ว (10 ขวบขึ้นไป) แต่พ่อ/แม่ยังไม่เคยพูดเรื่องนี้ ความเข้าใจและการปรับตัวเข้ากันได้ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง และขอคำแนะนำในการบอกเรื่องนี้กับลูก ทั้งกรณีลูกชายและลูกสาว
A: หลักคิดของเรื่องนี้คือ ดูอายุของลูกครับ เด็กแต่ละช่วงอายุจะสนใจหรือถือสาเรื่องราวต่างกัน ลูกที่อายุเกินสิบขวบถือว่าเป็นวัยรุ่นแล้ว แม้จะเป็นเพียงวัยรุ่นตอนต้น แต่ความรู้สึกนึกคิดที่สำคัญๆ ก็จะเป็นแบบวัยรุ่นทั่วไป ดังนั้นอย่าประมาท
วัยรุ่นจะสนใจเรื่องตัวเอง เรื่องความรัก และเรื่องอนาคต
เรื่องตัวเอง ได้แก่ เรื่องอัตลักษณ์และอัตลักษณ์ทางเพศ พูดอย่างรวบรัดคือ เขาส่องกระจกทุกวันนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม ดังนั้น พ่อแม่ที่ชาญฉลาดก็ควรสนใจร่วมไปกับเขา พ่อแม่มือใหม่ที่ชาญฉลาดก็ทำแบบเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มิใช่กะเกณฑ์บังคับ เพราะวัยรุ่นทุกคนต้องการอิสรภาพในการแต่งกาย หรือแต่งหน้าทำผม รักษาสิว อะไรเหล่านี้ เราแสดงความสนใจก่อน แล้วเขาจะพาเราไปไกลแค่ไหนค่อยว่ากัน จะรับได้หรือรับไม่ได้ก็คุยกัน
เรื่องความรัก ได้แก่ เรื่องรักเพื่อนและรักต่างเพศ ซึ่งทั้งสองกรณียังคงขึ้นอยู่กับความรักที่พ่อแม่มีให้แก่เขา บ้านที่พ่อแม่รักเขาเต็มอิ่ม เขาจึงจะมีต้นทุนด้านบุคลิกภาพและความรักเหลือเฟือไปแบ่งปัน และรู้ผิดรู้ชอบ รู้สายกลาง บ้านที่พ่อแม่ไม่รักเขา เขาจะรักมั่วไปเรื่อยๆ ดังที่เราเรียกว่า เพราะขาดรักนั่นแหละ ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ พ่อแม่รักเขาแปลว่าอะไร คำตอบคือ เขาเป็นผู้ตอบ ดังที่ผมเขียนแล้วว่า เด็กรู้สึกอย่างไร ความจริงคืออย่างนั้นหรืออย่างน้อยเราก็ต้องใส่ใจเสมอว่าเขารู้สึกอย่างนั้น วัยรุ่นรู้สึกว่าพ่อใหม่แม่ใหม่รักเขามากน้อยเพียงไร ใส่ใจที่ความรู้สึกของเขา ไม่ใช่ไปใส่ใจที่ลมปากของพ่อแม่ใหม่หรือตนเอง
เรื่องอนาคตก็ไม่ตรงไปตรงมา บ้านมีพ่อใหม่แม่ใหม่แล้ว จะให้เอาสโนว์ไวท์ไปไว้ไหน โตขึ้นจะเรียนอะไร จะได้เรียนที่อยากเรียนมั้ย อยากเป็นแอร์โฮสเตสได้มั้ย อยากเป็นสถาปนิกได้มั้ย บางเรื่องพ่อแม่คนเดิมเคยว่าได้ คนใหม่จะว่าอย่างไร เงินจะพอมั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม่ใหม่มีเรือพ่วงมาด้วย วัยรุ่นส่วนใหญ่ดูเหมือนไม่ได้คิดมากเรื่องเหล่านี้ เพราะวันๆ เห็นแต่ทำเรื่องไร้สาระ แต่อย่าได้หลงเชื่อภาพที่เห็น ความจริงคือ วัยรุ่นทุกคนกังวลเรื่องเหล่านี้ และอย่างที่ทราบ ระบบการศึกษาของเราไม่รองรับอนาคตเลย
คำแนะนำคือ หาเวลาแจ้งข่าวแก่เขาอย่างตรงไปตรงมาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นและจะเกิดอะไรขึ้น จากนั้นให้ความมั่นใจว่าเราจะใส่ใจเขาเหมือนเดิม (แล้วก็ใส่ใจในสามประเด็นข้างต้นอย่างชาญฉลาด นั่นคือ สนใจ แต่ไม่ยุ่มย่าม จากนั้นรอดูปฏิกิริยาและยอมรับปฏิกิริยาที่เกิขึ้น)
เรื่องยากและเรื่องผิดพลาดของการแจ้งข่าวไม่พึงประสงค์ หรือแจ้งข่าวร้าย หรือแจ้งข่าวที่สั่นคลอนความรู้สึก คือ ผู้แจ้งและคนรอบข้างคาดหวังว่าเขาจะไม่มีปฏิกิริยา หรือมีก็ควรน้อยและสั้นที่สุด ในทางตรงกันข้าม เราควรเตรียมรับปฏิกิริยาที่รุนแรงและเนิ่นนานไว้ก่อนเสมอ เตรียมใจและทำใจ อดทนและรอเวลา แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยชีวิตของขั้งสามข้อยังมั่นคง นานเท่าไรเราก็ยังมั่นคง เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์