บัตรประจำตัวประชาชน จะมีเลขประจำตัวประชาชนของเราแปะอยู่ 13 หลัก ซึ่งเธอคงไม่เคยสงสัยหรอกใช่มั้ยว่าทำไมต้องมี 13 หลัก แต่ละหลักบอกอะไร ทำไมฉันได้เลขนี้ เพราะอะไร Gangbeauty บอกเลยว่ามันไม่ใช่เลขสุ่มมั่วมาให้เธอนะ แต่มีหลักการในการตั้งเลขประจำตัวให้เธอด้วย แต่ละหลักบอกอะไรบ้าง ไปดูกันดีกว่า
หลักที่ 1 หมายถึง ประเภทของบุคคล มีอยู่ด้วยกัน 8 ประเภท
1 – คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา หมายความว่าเด็กคนไหนก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 อันเป็นวันเริ่มต้นที่มีประกาศให้ประชาชนทุกคนมีเลขประจำตัวประชาชน แล้วพ่อแม่ได้ทำการแจ้งเกิดกับหน่วยงานภายใน 15 วันหลังเกิดตามกฎหมายกำหนด เด็กคนนั้นถือเป็นบุคคลประเภท 1
2 – คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย แต่แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา หมายความว่าเด็กคนไหนที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 แล้วแจ้งเกิดช้าเพราะพ่อแม่ลืม หรือติดธุระปะปังจนไปแจ้งเกิดให้ไม่ทันใน 15 วัน เด็กคนนั้นจะกลายเป็นบุคคลประเภท 2 และจะได้ตัวเลขแรกของบัตรประชาชนเป็นเลข 2 ในทันที
3 – คนไทยและคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 หมายความว่าไม่ว่าใครก็ตาม จะไทยหรือต่างด้าว ที่มีใบสำคัญประจำตัวต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 ถือเป็นบุคคลประเภท 3 เลขนำหน้าก็จะเป็นเลข 3
4 – คนไทยและคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญคนต่างด้าวแต่แจ้งย้ายเข้า โดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชนในสมัยเริ่มแรก หมายความว่า คนไทยหรือคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว ที่อาจจะเป็นบุคคลประเภท 3 คือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ทันได้เลขประจำตัว ก็ขอย้ายบ้านไปเขตหรืออำเภออื่น ก่อนช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ก็จะเป็นบุคคลประเภท 4 ทันที
5 – ประเภทที่ 5 คือ คนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อ เข้าไปในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจ หรือกรณีอื่นๆ เช่น ส้มจี๊ดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเขตดุสิตอยู่แล้ว แต่บังเอิญว่าตอนที่มีการสำรวจรายชื่อผู้อยู่ในบ้าน เกิดความผิดพลาดทางเทคนิค ทำให้ชื่อของส้มจี๊ดหายไปจากทะเบียนบ้าน เมื่อไปแจ้งเจ้าหน้าที่และตรวจสอบแล้วว่าตกสำรวจจริง หรือจะเป็นเพราะกรณีอื่นใดก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็จะเพิ่มชื่อให้ แต่ส้มจี๊ดก็จะมีหมายเลขในทะเบียนบ้านเป็นบุคคลประเภท 5 และบัตรประชาชนจะขึ้นต้นด้วยเลข 5 ทันที
6 – ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว กล่าวคือ คนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย เพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย เช่น ชนกลุ่มน้อยตามชายแดน หรือชาวเขา
7 – บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย คนกลุ่มนี้ในทะเบียนประวัติจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7 เช่น 7 1012 2345 133
8 – คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือ ผู้ที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือคนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทย ตั้งแต่หลังวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 เป็นต้นไปจนปัจจุบัน
หลักที่ 2 ถึงหลักที่ 5 จะหมายถึง รหัสของสำนักทะเบียน หรืออำเภอที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนขณะที่ให้เลข ซึ่งก็หมายถึงถิ่นที่อยู่ของเรานั่นเอง กล่าวคือ เลขหลักที่ 2 และ 3 จะหมายถึงจังหวัดที่อยู่ ส่วนหลักที่ 4 และ 5 หมายถึงเขตหรืออำเภอในจังหวัดนั้นๆ เช่น ถ้าเขียนว่า 1101 ก็จะหมายถึงอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอเมือง เพราะ 11 แรกคือรหัสจังหวัดสมุทรปราการ และ 01 คืออำเภอเมืองสมุทรปราการ เป็นต้น
หลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10 จะหมายถึง กลุ่มที่ของบุคคลแต่ละประเภท ตามหลักแรก (หลักที่ 1) ซึ่งทางสำนักทะเบียนในแต่ละแห่ง ก็จะจัดกลุ่มเรียงไปตามลำดับ หรือหากเป็นเด็กเกิดใหม่ในปัจจุบัน เลขดังกล่าวก็จะหมายถึง เล่มที่ของสูติบัตร (ใบแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตออกให้) ซึ่งก็คือเลขประจำตัวในทะเบียนบ้านของเด็กที่แต่ละอำเภอหรือเขตออกให้ และจะไปปรากฎในบัตรประชาชน เมื่อถึงอายุต้องทำบัตรนั่นเอง แต่ถ้ายังไม่ถึงเกณฑ์เลขนี้ ก็จะปรากฏอยู่แค่ในทะเบียนบ้านของเด็กเท่านั้น
หลักที่ 11 และ 12 จะหมายถึง ลำดับที่ของบุคคลในแต่ละกลุ่มประเภท เป็นการจัดลำดับว่าเราเป็นคนที่เท่าไรในกลุ่มของบุคคลประเภทนั้นๆ
หลักที่ 13 จะหมายถึง ตัวเลขสำหรับตรวจสอบความถูกต้องของเลขทั้ง 12 หลักแรกอีกที
สำหรับเลขตั้งแต่หลักที่ 6 ถึง 13 นี้เป็นการจัดหมวดหมู่ และเรียงลำดับบุคคลในแต่ละประเภทของสำนักทะเบียนในแต่ละท้องที่ ซึ่งเราก็คงไม่ต้องรู้รายละเอียดอะไรลึกไปกว่านี้ เพราะรู้แล้วอาจจะงงเปล่าๆ ขนาดตอนนี้ยังเริ่มงงแล้วใช่มั้ยล่ะ
ว่าแล้วก็ลองเช็คเลขตัวเองดูหน่อยดีกว่า!