เปิดความจริงสำนวน “โจร 500” มีที่มาจากไหน พบตำนานเรื่องเล่าจากคัมภีร์ธรรมบทกล่าวถึง เดียรถีร์ ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นกลุ่มโจรชั่วที่ร้ายแรงกว่าโจรทั่วไป รวมถึงมหาโจรกลับใจ “องคุลีมาล” นอกจากนี้ยังพบคำภาษาไทยอื่นๆที่มีการเติม “ห้าร้อย” เข้าไปเพื่อให้ความรู้สึกหนักหน่วงขึ้นด้วย
ข้อมูลจากกระทู้ทรงคุณค่าเว็บไซต์ Pantip จากผู้ใช้งานชื่อ เพ็ญชมพู อธิบายเกี่ยวกับสำนวน “โจร 500” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีการอ้างอิงถึงตำนานจากคัมภีร์ธรรมบท ระบุว่า “คำว่า โจรห้าร้อย เดิมเป็นคำกล่าวเปรียบว่าโจรมีจำนวนมาก. สำนวน โจรห้าร้อย น่าจะมาจากอรรถกถาของคัมภีร์ธรรมบท กล่าวถึง เดียรถีร์ ๕๐๐ คน (โจร 500 คน) ร่วมกันวางแผนสังหารพระโมคคัลลาน์ เนื่องจากพระโมคคัลลาน์ทำให้สาวกจำนวนมากของเหล่าเดียรถีร์หันมานับถือพระพุทธศาสนา
“คำว่า ห้าร้อย นอกจากจะปรากฏในสำนวนว่า โจรห้าร้อยแล้ว ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนายังปรากฏคู่กับคำอื่นอีกด้วย เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐีถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ ๕๐๐ รูป. ต่อมาเมื่อใช้คำว่า โจรห้าร้อย มีความหมายว่า โจร, โจรชั่ว เช่น จันทโครบพานางโมราเดินป่าไปพบโจรห้าร้อยผู้หนึ่งระหว่างทาง. ปัจจุบันเมื่อตัดใช้แต่เพียง ห้าร้อย ก็หมายถึง คนเกเร คนไม่ดี เช่น ไอ้เด็กห้าร้อย วันๆ ไม่เรียนหนังสือ เอาแต่ซิ่งมอเตอร์ไซค์ไปทั่ว. คำว่า โจรห้าร้อย เขียนเป็นตัวหนังสือไม่ใช่ตัวเลข เพราะเป็นสำนวน ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น”
นอกจากนี้ยังมีข้อความอื่นๆที่ลงท้ายด้วย 500 จากผู้ใช้งานเว็บไซต์ Pantip ไอดี David_kop ระบุว่า “คนบ้าห้าร้อยจำพวก อันนี้คงเป็นคำคล้องจอง บ้า กับ ห้า, สภาห้าร้อย มาจากในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส รู้สึกว่าสภาชุดแรกหลังจากปฏิวัติจะมีสมาชิก 500 คน ส่วนลุง500 มาจากลุงคนนึงในห้องบลูและห้องรัชดา ชอบขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวคนเดียว ใช้ตังวันละไม่เกิน 500 บาท”