สมเด็จพระเจ้าทองลัน หรือ สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์ หรือ เจ้าทองลั่น หรือ เจ้าทองจัน หรือ เจ้าทองลันทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ. 1917 เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตขณะที่ทรงยกทัพไปตีเมืองชากังราว บรรดาข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ซึ่งเป็นรัชทายาทขึ้นครองราชย์สืบต่อในปี พ.ศ. 1931 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 15 พรรษา (จดหมายเหตุวันวลิตว่า 17 พรรษา)
ความช่วงนี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับ หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า
“ศักราชได้ 750 มะโรงศก (พ.ศ. 1931) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก และเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทาง สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพานและจึงเจ้าทองลันพระราชกุมาร ท่านได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาได้ ๗ วัน จึงสมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบุรี ขึ้นเสวยราช สมบัติพระนครศรีอยุธยา และท่านจึงให้พิฆาตเจ้าทองลันเสีย”
เมื่อสมเด็จพระเจ้าทองลันครองราชสมบัติได้ 7 วัน สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรีเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาแล้วให้กุมตัวสมเด็จพระเจ้าทองลันไปประหารชีวิต ณ วัดโคกพระยา แล้วเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นครั้งที่ 2
สมเด็จพระเจ้าทองลัน ถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีระยะเวลาครองราชย์น้อยที่สุดเพียงแค่ 7 วัน
ปรามินทร์ เครือทอง เชื่อว่า การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ได้มีมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว โดยปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาดังต่อไปนี้
“ศักราช 744 ปีจอ จัตวาศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ 13 ปี
จึงเจ้าทองจันทร์ ราชบุตร พระชนม์ได้ 15 พรรษา ขึ้นเสวยราชสมบัติ 7 วัน
สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้ กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้
ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ”
หากสรุปเอาตามพระบรมราชวินิจฉัยและความคิดเห็นของปรามินทร์ เครือทองข้างต้น ก็จะได้ว่ากฎมนเทียรบาลอันกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์นั้นประกาศใช้เป็นครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระราชาธิบดีที่ 1