ทพ.มหิศร วิเศษจัง
งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ถาม : คราบฟันหรือหินปูนเกิดขึ้นได้อย่างไร
ตอบ : หินปูนหรือหินน้ำลาย คือ แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัวเนื่องจากมีธาตุแคลเซียมจากน้ำลายเข้าไปตกตะกอน แผ่นคราบจุลินทรีย์ หรือ Bacterial plaque คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่มที่ประกอบด้วยเชื้อโรค ติดอยู่บนตัวฟัน แม้ว่าจะบ้วนน้ำก็ไม่สามารถหลุดออกได้ ขบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นหลังจากที่แปรงฟัน แล้วเพียง 2-3 นาที โดยจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่มาก ในปากจะมาเกาะทับถมกันมากๆ เข้าเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ คราบจุลินทรีย์นี้เองเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป คราบจุลินทรีย์นี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดและสารพิษ โดยกรดจะทำลายเคลือบฟันทำให้ฟันผุ สารพิษจะทำให้เหงือกอักเสบ ทำให้เกิดโรคปริทันต์ ถ้าไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์ โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างดีทุกวัน คราบนี้จะเพิ่มมากขึ้นและทำอันตรายต่อฟันและเหงือก มักพบคราบจุลินทรีย์มากโดยเฉพาะที่คอฟัน บริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน สามารถใช้สีย้อมให้เห็นคราบได้ชัดเจน แต่ในรายที่คราบหนามากๆ สามารถเห็นและรู้สึกได้เมื่อใช้ลิ้นสัมผัสไปตามฟัน
ถาม : ความสำคัญและความจำเป็นในการขูดหินปูน
ตอบ : บนพื้นผิวหินน้ำลาย จะมีคราบจุลินทรีย์ปกคลุม หินน้ำลายที่โผล่พ้นขอบเหงือกจะมองเห็นได้ แต่ส่วนที่อยู่ใต้เหงือกจะมองไม่เห็น หินปูนหรือคราบจุลินทรีย์ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือกไม่สามารถกำจัดออกได้ โดยวิธีการทำความสะอาดฟันด้วยตัวเองต้องอาศัยทันตแพทย์ช่วยกำจัดหินปูนให้ ทันตแพทย์จะขูดหินปูนออกทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือก จากนั้นทำรากฟันให้เรียบ (root planning) ปราศจากสารพิษใดๆ เพื่อให้เหงือกยึดแน่นรอบตัวฟันเหมือนเดิม
การขูดหินปูนให้หมดจริงๆ อาจต้องใช้เวลาพอควร อาจต้องนัดครั้งละ 30-45 นาที เป็นเวลา 2-4 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ขึ้นกับความมากน้อยของหินปูน ความลึกของร่องลึกปริทันต์ ความแข็งของหินปูนเป็นต้น
หลังจากนั้นประมาณ 4-6 อาทิตย์ ทันตแพทย์จะประเมินผลดูว่าผู้ป่วยหายจากโรคปริทันต์หรือไม่ โดยดูลักษณะเหงือกว่ากลับสู่สภาพเดิมหรือยัง มีเลือดออกเวลาแปรงฟันและเมื่อใช้เครื่องมือวัดร่องลึกปริทันต์ ว่าตื้นขึ้นหรือเข้าสู่ภาวะปกติหรือไม่ ถ้ายังมีความลึกของ ร่องลึกปริทันต์อยู่ ทันตแพทย์จะพิจารณาว่าควรจะทำการผ่าตัดหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการร่วมมือของผู้ป่วยในการทำความสะอาดด้วย แม้ว่าเหงือกจะกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยละเลยไม่ทำความสะอาดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ก็สามารถที่จะกลับมาเป็นโรคปริทันต์ได้อีก
ถาม : ควรเริ่มขูดหินปูนตั้งแต่วัยใด
ตอบ : สามารถขูดหินปูนได้ทุกวัย แม้กระทั่งในวัยเด็กที่มีฟันน้ำนมขึ้นแล้วไปจนกระทั่งผู้สูงอายุ
ถาม : ระยะความถี่ห่างของการขูดหินปูนที่เหมาะสม
ตอบ : ในระยะแรกๆ หลังการขูดหินปูน ควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจและทำความสะอาดภายใน 2-3 เดือน จากนั้นถ้าผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดได้ดี ไม่มีเหงือกอักเสบหรือไม่มีร่องลึกปริทันต์ ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจและขูดหินปูน ภายใน 5-6 เดือน โดยทุกครั้งจะดูความร่วมมือของผู้ป่วยและอาจทบทวนวิธีการทำความสะอาดฟันและเหงือกด้วย
ถาม : การขูดหินปูนบ่อยๆ จะมีผลกระทบต่อฟันหรือไม่
ตอบ : ในบางครั้งจะทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้บ้าง ภายหลังการขูดหินปูนและอาจมีการเจ็บเหงือกบ้างบางครั้ง แต่การดูแลรักษาความสะอาดที่ถูกต้อง จะทำให้อาการดังกล่าวหายไป
ถาม : ถ้าไม่ขูดหินปูนจะเกิดผลเสียอย่างไร
ตอบ : จะทำให้เกิดโรคปริทันต์ โดยท่านอาจมีอาการดังนี้
1. เลือดออกขณะแปรงฟัน
2. เหงือกบวมแดง
3. มีกลิ่นปาก
4. เหงือกร่น
5. มีหนองออกจากร่องเหงือก
6. ฟันโยก
7. ฟันเคลื่อนออกจากกัน
ถาม : ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกกับเลือดหยุดยาก สามารถขูดหินปูนได้หรือไม่
ตอบ : ผู้ป่วยที่มีเลือดหยุดยาก ควรจะมีการปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ปรึกษาและวางแผนการรักษาร่วมกับทันตแพทย์ โดยอาจจะต้องหยุดยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้า หรือในกรณีที่มีเลือดที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดอาจต้องให้เลือดหรือสารทดแทนก่อนขูดหินปูน เพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อนหรือเลือดไหลไม่หยุด
ถาม : การป้องกันในการเกิดคราบหินปูน
ตอบ : ประกอบด้วยการทำความสะอาดฟัน นั้นคือ การแปรงฟันให้ถูกวิธี
การทำความสะอาดซอกฟัน รวมทั้งการนวดเหงือก ซึ่งมีหลายวิธี เช่นการใช้เส้นใยขัดฟัน (flossing) ปุ่มนวดเหงือก (rubber tip) แปรงระหว่างซอกฟัน (proxmal brush) ผ้าก็อซ (gauze strip) ไม้กระตุ้นเหงือก การที่จะเลือกใช้อุปกรณ์ตัวใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและคำแนะนำของทันตแพทย์
ถาม : ข้อแนะนำท้ายรายการ
ตอบ : ท่านสามารถป้องกันโรคฟันผุ และโรคปริทันต์ ได้โดยการกำจัดคราบจุลินทรีย์ในช่องปากของท่านโดยการ
1. แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน การแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อเป็นสิ่งที่ดีมากแต่ถ้าไม่สามารถกระทำได้ให้บ้วนน้ำแรงๆ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร
2. ทำความสะอาดซอกฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
3. หลีกเลี่ยงอาหารหวานๆ โดยเฉพาะระหว่างมื้อ
4. พบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสภาพเหงือกและฟัน เพื่อทำความสะอาดฟันบริเวณที่เหลือจากการทำความสะอาดและรับการรักษาระยะเริ่มแรก ก่อนที่ท่านจะต้องสูญเสียฟันของท่าน เนื่องจากโรคฟันผุและปริทันต์