ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลย สำหรับปัญหาวัยรุ่นท้องในวัยเรียนนี้ เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่า วัยรุ่นไทย ท้องในวัยเรียน สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีอัตราการวัยรุ่นอายุ 10 -19 ปีที่ตั้งครรภ์อยู่ที่ 42 คน ต่อวัยรุ่น 1,000 คน (ผลสำรวจของกรมอนามัย ปี 2559) ซึ่งในแต่ละปี ก็มีแนวโน้มที่ลดลง แต่ก็ยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียนอยู่ดี ที่สำคัญคือยังมีแม่วัยรุ่นจำนวนมาก ที่ถูกโรงเรียนบีบให้ลาออก หรือไล่ออกจากโรงเรียน และครูก็ไม่ทราบว่ามีกฎหมายคุ้มครองให้เด็กเรียนต่อได้อีกด้วย!
นอกจากแม่วัยใสที่ต้องออกจากสถานศึกษาเพราะความไม่รู้แล้ว ยังมีแม่วัยใสอีกไม่น้อยที่ยังต้องพ้นจากระบบการศึกษาทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าตนมีสิทธิตามกฎหมาย เพราะถูกกดดันจากสถานศึกษาให้ลงชื่อลาออก
แม่วัยรุ่น ท้องตอนเรียน ต้องรู้ ครูไม่มีสิทธิ์ไล่ออก!!
ความหมายของ “วัยรุ่น”
“วัยรุ่น” หมายความว่า บุคคลอายุเกิน 10 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์
“นักเรียน” หมายความว่า วัยรุ่นซึ่งกําลังรับการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน
“นักศึกษา” หมายความว่า วัยรุ่นซึ่งกําลังรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าอยู่ในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้สถานศึกษาตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงอุดมศึกษา ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยจัดให้มีการเรียนการสอนเพศศึกษาที่ถูกต้อง พร้อมห้ามไล่ออกนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ โดยให้ลาหยุดเรียนระหว่างตั้งท้อง คลอดบุตรและดูแลบุตรได้ พร้อมให้มีช่องทางดูแลช่วยเหลือคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ด้วย
พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
มีสาระที่น่าสนใจ (ส่วนหนึ่งใน พ.ร.บ.) ดังนี้
กำหนดให้สถานศึกษาที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษา ให้สถานศึกษาตามวรรคหนึ่ง จัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียน หรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง ดังต่อไปนี้
1. อนุญาตให้นักเรียนหรือนักศึกษาดังกล่าวหยุดพักการศึกษาในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอดเพื่อดูแลบุตรตามความเหมาะสม และจัดการเรียนการสอนให้เกิดความยืดหยุ่น ตามศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
2. จัดให้มีผู้ให้คําปรึกษา โดยร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ในการให้ความช่วยเหลือและสร้างความเข้าใจสําหรับการอยู่ร่วมกับสังคม ท้ังนี้ ให้สถานศึกษาอํานวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม กับนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์
ทว่า หากเด็กนักเรียนเกิดผิดพลาดตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็ยังเป็นหน้าที่ของโรงเรียน ในการจัดหาการศึกษาให้กับเด็กเหล่านั้นได้จบการศึกษาตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง พ.ร.บ.นี้ ก็ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์เพราะยังมีโรงเรียนที่ “เลือกปฏิบัติ” อยู่ นักเรียนบางคนต้องจำยอมออกจากระบบการศึกษา เหตุผลอาจเพียงเพราะว่า โรงเรียนกลัวเสียชื่อเสียง กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องประกาศกฎออกมาย้ำชัดอีกรอบ เพราะบางโรงเรียนไม่เคยทำตามกฎ!
การช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมนั้น
เริ่มแรกจะต้องพูดคุยกับครู ฝ่ายบริหารและผู้ปกครอง เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาว่าหากปล่อยให้นักเรียนที่ตั้งครรภ์หลุดออกจากระบบการศึกษาจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่มีคุณภาพเนื่องจากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและการขาดโอกาสในการทำงานในอนาคต เป็นต้น
จากนั้นจึงพูดคุยกับเพื่อนนักเรียนในห้องให้เข้าใจและเห็นใจเพื่อนที่ประสบปัญหา เพื่อให้เด็กรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งด้านร่างกายและสภาพจิตใจโดยจะทำควบคู่ไปกับการออกแบบหลักสูตรเป็นรายบุคคล
ทั้งนี้ การกลับมาร่วมชั้นเรียนกับเพื่อนตามปกตินั้น อาจจะเป็นไปได้ในช่วงแรกที่อายุครรภ์ยังไม่มาก เพราะหากอายุครรภ์มากขึ้นสภาพร่างกายอาจไม่เอื้ออำนวย เช่น ปวดปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง ไม่สบายเนื้อสบายตัว หรือนักเรียนบางคนอาจมีสภาพจิตใจที่ไม่เข้มแข็งพอจะมาเรียนตามปกติ แต่ครูก็พร้อมจะให้คำปรึกษาเสมอและพร้อมจะผลักดันให้เด็กเรียนจนจบทุกคน
โดยที่ผ่านมาเด็กส่วนใหญ่ก็กลับมาเรียนต่อจนจบการศึกษา จะมีเพียงบางส่วนที่หลังจากพักการเรียนไปแล้วก็ทำเรื่องย้ายโรงเรียนจึงไม่สามารถติดตามได้
ทีนี้ เราก็รอดูกันต่อไปว่า มาตรการ หรือ พ.ร.บ. ที่ออกมานี้ จะช่วยให้สภาวะการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลง หรือบรรเทากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วได้อย่างไร