เมื่อคืนโชคดี ได้นอน 8 ชั่วโมงครบถ้วน แต่ทำไมเช้ามาแล้วทั้งง่วงทั้งปวดหัว ประหนึ่งไม่ได้หลับไม่ได้นอนมา 10 วัน Gangbeauty เชื่อว่าหลายคนเป็นแบบนี้อยู่นะ การตื่นมาพบกับวันใหม่อันสดใสแทบไม่เคยจะปรากฎในชีวิตเลยด้วยซ้ำ แต่นั่นก็เป็นเพราะว่าเธอทำตัวเองทั้งนั้นเลย!
1. เล่นโทรศัพท์/แท็บเลตก่อนนอน
pixabay.com
อาจจะสนุก แต่แสงสีฟ้าที่แผ่ออกมาจากหน้าจออุปกรณ์เหล่านี้มันไม่ก่อให้เกิดเรื่องสนุกหรอก มันจะเข้าไปยับยั้งฮอร์โมนเมลาโทนินที่ทำหน้าที่ควบคุมการนอนหลับและวงจรการตื่น ดังนั้นเมื่อเมลาโทนินเกิดความรวน ร่างกายก็จะไม่ได้นอนหลับอย่างสนิท เปลี่ยนใหม่นะพฤติกรรมนี้ ก่อนนอนสัก 90 นาทีพยายามปิดเครื่องมือทุกอย่างให้หมด หรือถ้าไม่อยากปิด กลัวมีเหตุฉุกเฉินกลางค่ำกลางคืน เปิดได้ แต่ควรเอาไว้ให้ห่างจากตัวไกลหน่อยเพราะแสงจากหน้าจออาจรบกวนการนอนของเธอได้เหมือนกัน
2. นอนท่าไม่ดี
www.pexels.com
เช้านี้ไม่สดใสเพราะปวดหลังใช่มั้ยล่ะ ผู้หญิงคนไหนชอบการนอนตะแคง น่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกันบ่อยเพราะระหว่างที่นอน สะโพกอยู่ในท่าโค้งงอทั้งคืนนั่นเอง ให้แก้ไขโดยการนำหมอนมาวางไว้ตรงหว่างขาเพื่อให้แนวสะโพกเรียงกันตามธรรมชาติไปทั้งคืน
3. หมอนไม่ดี
commons.wikimedia.org
หมอนที่เธอใช้นอนเป็นประจำก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เช้าของเธอไม่สดใสได้ ความฟูนุ่มของหมอนที่น้อยไป มากไป อาจทำให้เธอนอนอยู่ในท่ากระดูกคอคดงอ เหมือนคนเดินคอหักติดต่อกัน 8 ชั่วโมง เปลี่ยนหมอนใหม่เป็นหมอนประเภทที่มีโฟมรองรับกระดูกต้นคอจะช่วยได้มาก ลงทุนทีเดียวแต่ได้สุขภาพนะ
4. นอนกัดฟัน
pixabay.com
ถ้าเช้ามาปวดหัวตลอด อาจเป็นไปได้ว่าทั้งคืนที่ผ่านมา เธอนอนกัดฟัน วิธีแก้ไขตามการวิจัยคือให้นวดเบาๆ หรือไม่ก็ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ มากดบริเวณขากรรไกรทั้งก่อนเข้านอนและหลังจากตื่นนอน อีกทางหนึ่งคือเข้าคลีนิคหมอฟัน ขอที่ครอบฟันมาใส่กันการกัดฟันเอาไว้ก็ได้จ้ะ
5. ดื่มก่อนนอน
maxpixel.freegreatpicture.com
หลายคนติดการดื่มแอลกอฮอล์มากถึงขนาดไม่ดื่มแล้วนอนไม่หลับ ความจริงก็ได้อยู่ แต่ไม่ควรเกินคืนละแก้ว ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะเครื่องแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาทนะ ดื่มเกินกว่านี้มันจะทำให้คลื่นสมองทำงานหนักมากระหว่างที่นอนหลับ ยิ่งผู้หญิงอย่างเรา มันจะยิ่งกระตุ้นการเผาผลาญพลังงาน นอกจากหลับไม่สนิทแล้วยังตื่นไวอีกด้วย
6. เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
www.flickr.com
ผู้หญิงช่วงวัย 20-44 ปีมักจะมีภาวะนี้เกิดขึ้นประมาณ 25% และยิ่งอายุเยอะ เปอร์เซ็นต์การเกิดก็มากตามไปด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้รุนแรงอะไรมาก ก็รักษาให้หายด้วยการลดน้ำหนักและหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน แต่เมื่อไหร่ที่รุนแรง อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อขยายทางเดินหายใจร่วมด้วย
ทำข้อ 1-5 สังเกตอาการแบบข้อ 6 เท่านี้การตื่นนอนก็ไม่ใช่ปัญหาอีกแล้ว!