สาเหตุของการนอนกรน เกิดจากกล้ามเนื้อคอคลายตัวขณะหลับจนทำให้ช่องคอแคบลง ซึ่งทำให้ต้องหายใจเข้าออกแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการสั่นสะเทือนเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีเสียงกรนตามมา
โดยปกตินั้นผู้ชายมักมีอัตราการนอนกรนมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะคนอ้วน ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบ ผู้ที่ทำงานหักโหม หรือออกกำลังกายมากเกินไป นอกจากนี้การดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด กินยานอนหลับก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กรนได้ หากช่องคอแคบลงอีกเรื่อยๆ ทำให้เกิดการอุดตันในช่องคอแบบชั่วคราว ทำให้ลมหายใจเข้าออกขาดหายไปชั่วขณะ หรือที่เรียกว่า การหยุดหายใจขณะหลับ
หากปล่อยอาการไว้นานๆอาจส่งผลเสียตามมา เช่น สามารถเกิดความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด ได้มากกว่าคนปกติ เป็นเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
1. ควบคุมน้ำหนัก ความอ้วนเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของอาการนอนกรน เพราะไขมันที่สะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจบริเวณคอ ถูกเบียดให้เล็กลง รวมทั้งไขมันที่หน้าอกและท้องก็ยังเป็นภาระให้ร่างกายต้องหายใจหนักขึ้น และใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น
2. ออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่ดึงรั้งช่องทางเดินหายใจมีความแข็งแรงขึ้น ขณะที่นอนหลับเนื้อเยื่อภายในปากจะได้ไม่หย่อนลงมาจนขัดขวางช่องทางเดินหายใจ
3. นอนตะแคง พยายามจัดท่านอน เพื่อป้องกันการหายใจทางปาก โดยการนอนตะแคงงอข้อศอก เพื่อให้มือข้างหนึ่งยันคางไว้เป็นการปิดปาก หรืออาจใช้หมอนหนุนหลังเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พลิกมานอนหงาย อาจฝึกด้วยการนอนในที่แคบๆจนเคยชินก็ได้ หรือจะลองใช้ลูกเทนนิสสอดไว้ในเสื้อนอนด้านหลัง ความไม่สบายนี้จะช่วยเตือนให้คุณหลับในท่าตะแคงได้โดยตลอด
4. นอนหมอนสูง ยกศีรษะให้สูงขึ้น ถ้านอนตะแคงไม่ได้จริงๆ ให้นอนหงายแล้วใช้หมอนเล็กๆ หนุนที่บริเวณหลังคอด้านบน ยกศีรษะให้สูงจากเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหย่อนลงไปในลำคอจนเกิดเสียงกรนได้
5. รักษาที่นอนให้สะอาด พยายามกำจัดปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดหอบหืด ภูมิแพ้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการกรน เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์
6. พยายามอย่าให้มีขี้มูกก่อนนอน จะช่วยให้ช่องจมูกเปิดโล่ง ลมเข้าออกได้อย่างสะดวก
7. เพิ่มระดับความชื้นในห้องนอน เพราะการนอนในห้องที่มีความชื้นต่ำมาก อากาศภายในห้องจะแห้ง ทำให้เยื่อบุต่างๆในระบบทางเดินหายใจพลอยแห้งตามไปด้วย บางรายอาจเกิดอาการบวมและทางเดินหายใจตีบแคบลง จนเกิดอาการนอนกรนในที่สุด
8. ลดปริมาณหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับและยาระงับประสาท เพื่อลดโอกาสที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำคอคลายตัวและปิดกั้นทางเดินหายใจ
9. เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุให้คัดจมูก และหายใจไม่สะดวก
10. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เด็กก่อนวัยเรียนควรนอนประมาณ 11-12 ชั่วโมงต่อวัน เด็กในวัยเรียนควรนอนอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวัน วัยรุ่นควรนอนประมาณ 9-10 ชั่วโมงต่อวัน และผู้ใหญ่ควรนอนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
11. ฟันยาง ใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายฟันยางหรือเครื่องดัดฟัน เพื่อป้องกันลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีนี้ได้ผลดีในรายที่เป็นไม่รุนแรง ปัจจุบันมีหลายชนิด มีข้อดีข้อเสียหรือข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ท่านควรปรึกษาแพทย์ด้านนี้ก่อน
12. ล้างจมูกบ้าง ถ้าทำยังไงก็ไม่หายกรนสักทีลองวิธีล้างจมูกช่วยก็ได้ค่ะ ไม่แน่ว่าภายในจมูกของเราอาจมีขี้มูกหรือสิ่งตกค้างเข้าไปอุดตันจนทำให้หายใจไม่ค่อยสะดวกเวลาที่นอนหลับก็ได้
ภาพปกประกอบจาก : pantip.com