อาจารย์ดอกเตอร์ฟิลิพ เจ. บรูคส์ และคณะ แห่งสถาบันการเสพติดแอลกอฮอล์และแอลกอฮอลิซึมแห่งชาติ สหรัฐฯ เผยอาการอาการหน้า-ตัวแดงเวลาดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ) ซึ่งบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ ใจสั่น ใจเต้นแรงร่วมด้วย อาการดังกล่าวเป็นผลจากลักษณะพันธุกรรม (สืบต่อจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย) ของการขาดเอนไซม์หรือน้ำย่อยที่ใช้ในการทำลายแอลกอฮอล์ที่ชื่อ “ALDH2”
อาจารย์บรูคส์กล่าวว่า นักดื่มอายุน้อยบางคนใช้ยาแก้แพ้ช่วยลดอาการหน้าแดงในระหว่างการดื่ม เพื่อให้ดื่มได้มากขึ้น การทำเช่นนี้กลบเกลื่อนอาการหน้าแดงได้ชั่วคราว แต่จะทำให้เสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้นในระยะยาว
อาจารย์แนะนำให้ตั้งคำถาม 2 ข้อกับคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ได้แก่
1. ตอนดื่มเบียร์แก้วแรกในชีวิต หน้าแดงหรือไม่ ถ้าหน้าแดงแสดงว่า น่าจะขาดเอนไซม์ ALDH2 และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้น
2. เมื่อดื่มไป 1-2 ปี ดื่มเบียร์แล้วหน้าแดงหรือไม่ ถ้าหน้าไม่แดง (เลิกแดง) แสดงว่า น่าจะเริ่มติดเหล้าแล้ว (tolerant = ด้าน ดื้อยา ดื้อต่อสารเคมี)
คนที่ดื่มแล้วหน้าแดงเสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้น ส่วนคนที่ดื่มนานจนหายแดง แสดงว่า เริ่มติดเหล้าแล้ว เสี่ยงมะเร็งด้วย เสี่ยงโรคอื่นๆ เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบ พิษสุราเรื้อรัง ฯลฯ ด้วย
โดยผลวิจัยยังพบอีกว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอลล์แล้วมีอาการตัวแดงนั้น มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อดื่มเหล้าเกิน 4 แก้วต่อ 1 อาทิตย์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร เนื่องจากอาการตัวแดงนั้นเกิดจากกระบวนการสร้างเอนไซน์ที่ตับไม่สมบูรณ์ ร่างกายจึงไม่สามารถกำจัดแอลกฮอลล์ในเลือดได้ดีเท่าคนอื่น