ไตมีหน้าที่ในการขับของเสียออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ และหากระบบไตถูกทำลาย ร่างกายของเราก็ไม่ต่างกับถังขยะที่เป็นแหล่งรวมของเชื้อโรค ที่พร้อมจะทำลายอวัยวะต่างๆที่สำคัญอื่นๆภายในร่างกายของเราทุกเมื่อ และที่น่าตกใจคือคนไทยป่วยเป็นโรคไตสูงมาก เพราะฉะนั้นเราควรดูแลตัวเอง เปลี่ยนวิธีการกิน หรือการใช้ชีวิตประจำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตได้ !!
1. หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ร่วมกับการตรวจสุขภาพไตขั้นพื้นฐาน 3 ประการได้แก่ การวัดความดันโลหิต การตรวจปัสสาวะ และการตรวจเลือดหาระดับของเสียในร่างกาย (ครีอะตินีน) ซึ่งเป็นการตรวจกรองในเบื้องต้นว่าคุณมีโรคไตซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ การรักษาก็ไม่ใช่เรื่องยาก
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สะอาด ถูกหลักโภชนาการเน้นอาหารจำพวกผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงหรือมีโปรตีนมากเกินไป เพราะจะทำให้ไตทำงานหนัก ควรลดปริมาณอาหารมื้อเย็นให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่เค็มจัด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการบวม หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง ตลอดจนทำให้ไตเสื่อมสมรรถาพได้ ในกรณีที่มีภาวะไตวายเรื้องรัง ควรตรวจสอบถามแนวทางการปฎิบัติตัวเพิ่มจากอายุรแพทย์โรคไตหรือนักโภชนาบำบัด
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรเลือกวิธีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ได้แก่ การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก หรือการออกกำลังกายวิธีอื่นๆ ที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง นอกจากการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรงแล้ว การออกกำลังกายจะช่วยลดระดับความดันโลหิต ลดไขมันส่วนเกิน และช่วยทำให้นอนหลับง่ายขึ้น ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป และไม่ออกกำลังกายขณะที่ร่างกายไม่พร้อม เช่น มีไข้ หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ เพิ่งเปลี่ยนยาควบคุมความดันโลหิต หรือเมื่อรู้สึกว่าร่างกายไม่แข็งแรงพอ
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบทางอ้อมต่อไต ทำให้ไตเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น
5. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่อ้วนเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนักเป็นผลทำให้ไตเสื่อมไว เพราะภาวะอ้วนจะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตกดทับ ส่งผลให้ความดันภายในไตเพิ่มสูงขึ้น
6. หลีกเลี่ยงสารเสพติด รวมถึงบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์จะมีผลเสียโดยตรงต่อทั้งตับและไต การสูบบุหรี่นอกจากจะทำให้ได้รับสารพิษมากกว่า 50 ชนิดแล้ว ยังพบว่าไตของผู้ที่สูบจะเสื่อมหน้าที่เร็วขึ้น 1.2 เท่า และอาจเกิดผลเช่นเดียวกันกับผู้ที่อยู่แวดล้อมหรือใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่
7. ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ เพราะเป็นต้นเหตุให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะและเกิดการอักเสบของท่อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้หญิงบางรายอาจทำให้เกิดโรคไตอักเสบเฉียบพลันได้
8. หลีกเลี่ยงการรับประทานาที่อาจมีผลเสียต่อไต เช่น ยาแก้ปวดข้อ ปวดเส้น ปวดกล้ามเนื้อ หากใช้ยาเหล่านี้ไม่ถูกวิธีหรือมีการแพ้ยาก็อาจเกิดอันตรายต่อไตได้ ไม่ควรรับประทานยาใดๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ และไม่ทดลองยาแปลกๆ ที่มีผู้อื่นแนะนำรวมทั้งสมุนไพรต่างๆ กรณีที่รับประทานยาแล้วมีอาการเปลี่ยนแปลงให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
9. อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาสรรพคุณสารอาหารบำรุงสุขภาพ แม้ว่าองค์การอาหารและยา (อย.) ได้รับรองแล้วว่าสามารถซื้อรับประทานได้โดยไม่เกิดโทษ แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตพึงให้ความระมัดระวังในการเลือกรับประทาน ควรอ่านฉลากที่แนบไว้ด้วยว่า อาหารเสริมดังกล่าวมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังประการใดบ้าง เพราะอาหารเสริมบางอย่างมีเกลือผสมอยู่มาก อาจทำให้เกิดโทษได้ทั้งในผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังและโรคความดันโลหิตสูง
10. การป้องกันถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลตนเองให้ปลอดจากโรคไต ซึ่งทำได้ง่ายกว่าการบำบัดรักษา ดังนั้นควรหมั่นสังเกตตนเองว่ามีสัญญาณเตือนภัยของโรคไตหรือไม่ หากพบอาการใดอาการหนึ่งหรือพบหลายอาการร่วมกันควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉันว่าเป็นโรคไตอยู่แล้วนั้น การดูแลตนเองที่ดีจะช่วยให้ไตเสื่อมสมรรถภาพได้ช้าลง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตลงได้
ภาพปกประกอบจาก : pixabay.com