มะเร็งปากมดลูกโรคร้ายของคุณผู้หญิงที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย โดยมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ที่มักติดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งร้อยละ 80 ของผู้หญิงหรือผู้ชายที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วมักจะมีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกาย โดยปกติแล้วเชื้อ HPV ร่างกายสามารถกำจัดเองได้แต่หากร่างกายกำจัดเชื้อนี้ออกไปไม่หมด เชื้อ HPV จะไปก่อให้เกิดระยะก่อนมะเร็งและพัฒนาไปเป็นมะเร็งที่ปากมดลูกได้ในที่สุด
ซึ่งผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูกกว่าจะตรวจเจอก็อาจลุกลามรุนแรงไปไปไกลแล้ว เพราะเชื้อ HPV ต้องใช้เวลานานกว่าเชื้อจะพัฒนากลายเป็นก้อนมะเร็ง บางรายอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ถึงจะเริ่มแสดงอาการ หากคุณผู้หญิงกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ลองเช็กสัญญาณเตือนเหล่านี้ว่ามีอาการให้เห็นหรือเปล่า
1. มีอาการตกขาว เลือด ของเหลว ออกจากทางช่องคลอดผิดปกติ
2. มีประจำเดือนมามาก หรือนานกว่าปกติ
3. มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเจ็บปวดขณะมีกิจกรรมทางเพศ
4. ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย
5. ปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก ติดขัด มีเลือดออก
6. เบื่ออาหาร
7. น้ำหนักลดลงโดยไม่ทรายสาเหตุ
8. ขาบวม ปวดหลัง ปวดก้นกบ
หากมีอาการดังนี้แล้วก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่ถ้าอยากให้ชัวร์ก็ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่โรงพยาบาลจะดีกว่า แม้มะเร็งปากมดลูกจะฟังดูแล้วน่ากลัว แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถป้องกันและรักษามะเร็งปากมดลูกให้หายขาดได้ โดยเราสามารถแบ่งการป้องกันมะเร็งปากมดลูกออกเป็น 2 ระดับ
1. การป้องกันระดับแรก (Primary prevention) โดยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก เช่น 1.1. ไม่มีคู่นอนหลายคน
1.2. ไม่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยเพราะเยื่อบุของปากมดลูกยังไม่แข็งแรงจึงทำให้เชื้อ HPV เปลี่ยนแปลงปากมดลูกให้กลายเป็นระยะก่อนมะเร็งและมะเร็งได้ง่าย
1.3. งดการสูบบุหรี่
1.4. ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ถึง 45 ปี ทั้งเพศหญิงและเพศชาย หากได้รับวัคซีนก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกและร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีจะทำให้ได้รับประสิทธิภาพจากวัคซีนสูงสุด
2. การป้องกันระดับที่ 2 (secondary prevention) ป้องกันโดยการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก มีทั้งหมด 3 วิธี คือ
2.1. การตรวจ PAP SMEAR เป็นวิธีการทางเซลล์วิทยาเพื่อตรวจหาความผิดปกติของปากมดลูก โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูก แล้วนำไปส่งตรวจเพื่อค้นหาเซลล์ผิดปกติที่อาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้
2.2. การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV วิธีนี้เป็นการตรวจหาชีวโมเลกุลเพื่อหาเชื้อไวรัส HPV โดยตรง โดยแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูกและส่งตรวจในเช่นเดียวกันกับการตรวจ PAP SMEAR
2.3. การป้ายปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู เพื่อตรวจดูบริเวณปากมดลูกที่มีความผิดปกติ
ดังนั้น หากเราสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ก็จะป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน เราจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูก ยิ่งตรวจเจอระยะก่อนมะเร็งยิ่งรักษาง่าย อย่าปล่อยไว้นานจนลุกลามไปไกลไม่อย่างนั้นจะยิ่งทรมานและรักษายากขี้นด้วย
ที่มาจาก :
Rama Channel
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข