สำหรับช่วงเวลานี้สิ่งที่ทุกคนต้องการหนีไม่พ้น “น้ำยาฆ่าเชื้อ” เพราะจากการระบาดของไวรัส Covid-19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ไม่มีที่ท่าว่าจะลดลงเลย ทำให้ทุกๆ คนต้องดูแลตัวเอง รักษาความสะอาดมากยิ่งขึ้น วันนี้ GangBeauty เลยมี 12 สูตรผสมน้ำยาฆ่าเชื้อจาก ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากค่ะ เป็นการผสมน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับทำความสะอาดพื้นผิว โดยอิงตามสารสำคัญ พร้อมระบุความเข้มข้นขั้นต่ำในการใช้ ดังนี้
– เอธิลแอลกอฮอล์ ความเข้มข้นขั้นต่ำในการฆ่าเชื้อ 70%
– โซเดียม ไฮโปคลอไรด์ (น้ำยาฟอกขาว) ความเข้มข้นขั้นต่ำในการฆ่าเชื้อ 0.1%
– ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ ความเข้มข้นขั้นต่ำในการฆ่าเชื้อ 0.5%
– ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ ความเข้มข้นขั้นต่ำในการฆ่าเชื้อ 70%
– เบนซาลโคเนียม คลอไรด์ ความเข้มข้นขั้นต่ำในการฆ่าเชื้อ 0.05%
– คลอโรไซลินอล ความเข้มข้นขั้นต่ำในการฆ่าเชื้อ 0.12%
– โพวิโดนไอโอดีน ความเข้มข้นขั้นต่ำในการฆ่าเชื้อ 1% ของไอโอดีน
ซึ่งก่อนจะไปดูสูตรผสมน้ำยากัน าดูข้อวรระวังในการผสมกันก่อนนะคะ
– ควรสวมถุงมือยางก่อนทำความสะอาดป้องกันการระคายเคือง
– อ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์และใช้ส่วนผสมให้เหมาะกับน้ำยาแต่ละประเภท
– ควรทำความสะอาดพื้นผิวก่อนใช้น้ำยาทำความสะอาด
– ไม่ควรผสมน้ำยาหลายประเภทเข้าด้วยกัน
– ควรทิ้งระยะเวลาให้น้ำยาออกฤทธิ์หลังทำความสะอาด
พร้อมมาดูกันเลยค่ะ ว่าแต่ละสูตรใช้ส่วนผสมอะไร ยังไงบ้าง
1. สูตรผงซักฟอกทั่วไป
สำหรับสูตรนี้ใช้ทำความสะอาดวัสดุที่เป็นผ้า เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ผ้าม่าน และพรมเช็ดเท้า ให้ผสมผงซักฟอกกับน้ำร้อน 70 องศาเซลเซียล แล้วซักตามปกติ เพื่อช่วยกำจัดเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างมีประสิทธิภาพ
2. สูตรเดทตอล รุ่น ไฮยีน มัลติ-ยูส ดิสอินแฟคแทนท์
มาต่อกันที่สูตรเดทตอล รุ่น ไฮยีน มัลติ-ยูส ดิสอินแฟคแทนท์ มีสารเบนซาลโคเนียม คลอไรด์ (Benzalkonium chloride or Alkyl dimethyl benzyl ammonium chloride) ที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เป็นส่วนประกอบ โดยมีความเข้มข้น 2.4% สามารถใช้ทำความสะอาดและกำจัดเชื้อไวรัสบนพื้นผิวต่างๆ ได้ในความเข้มข้นตั้งแต่ 0.05% ขึ้นไป ฉะนั้นควรเอามาเจือจางก่อนใช้ดยให้ผสมน้ำยา 1 ส่วน เข้ากับน้ำเปล่า 47 ส่วน ทั้งนี้ควรตรวจสอบความเข้มข้นหลังเจือจางอีกครั้ง ที่สำคัญไม่ควรใช้กับผิวหนังโดยตรง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
3. สูตรเดทตอล รุ่น แอนตี้เซพติก ดิสอินแฟคแทนท์
สำหรับสูตรนี้ใช้เดทตอล รุ่น แอนตี้เซพติก ดิสอินแฟคแทนท์ ที่มีสารคลอโรไซลินอล (Chloroxylenol) ความเข้มข้น 4.8% ให้ใช้น้ำยา 1 ส่วน ผสมกับน้ำเปล่า 39 ส่วน เพื่อเจือจางให้สารชนิดดังกลาวมีความเข้มข้นเหลือเพียง 0.12% ซึ่งปลอดภัยและเพียงพอแล้วสำหรับการกำจัดเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัส ที่สำคัญคือ ควรใช้ทันทีหลังผสมเสร็จ
4. สูตรผลิตภัณฑ์ซักผ้าสีไฮยีน
ต่อกันที่ผลิตภัณฑ์ซักผ้าสีไฮยีนที่เราคุ้นเคยกันดี เป็นอีกหนึ่งน้ำยาทำความสะอาดที่ฆ่าเชื้อไวรัสได้ เพราะมีสารไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) ความเข้มข้น 7.5% ซึ่งปกติแล้วแค่มีสารชนิดนี้ที่ความเข้มข้นอย่างน้อย 0.5% ก็มีประสิทธิภาพมากพอแล้ว ดังนั้นจึงต้องเจือจางก่อน โดยให้ผสมผลิตภัณฑ์ซักผ้าสีไฮยีน 1 ฝา หรือประมาณ15 มิลลิลตร เข้ากับน้ำเปล่า 200 มิลลิลิตร
5. สูตรผลิตภัณฑ์ซักผ้าขาวไฮยีน
มีไฮยีนผ้าสีแล้วก็ต้องมีไฮยีนผ้าขาวกับสูตรผลิตภัณฑ์ซักผ้าขาวไฮยีน มีสารโซเดียม ไฮโปคลอไรต์ (Sodium hypochlorite) หรือสารฟอกขาว (Bleach) ซึ่งมีความเข้มข้นอยู่ที่ 6% ทว่าตามคำแนะนำควรใช้อย่างน้อย 0.1% จึงควรนำมาเจือจางด้วยการผสมผลิตภัณฑ์ซักผ้าขาวไฮยีน 1 ฝา หรือประมาณ 15 มิลลิลิตร เข้ากับน้ำเปล่า 150 มิลลิลิตรก่อน
6. สูตรไฮเตอร์
คุ้นเคยกันดีกับไฮเตอร์ ซึ่งในไฮเตอร์มีสารโซเดียม ไฮโปคลอไรด์ (Sodium hypochlorite) หรือสารฟอกขาว (Bleach) ใช้ทำความสะอาด เนื่องจากมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อสูง แต่ว่าค่อนข้างแรง มีกลิ่นฉุน กัดกร่อนสเตนเลส และทำให้ผิวหนังปวดแสบปวดร้อนได้ ดังนั้นจึงต้องนำมาเจือจางก่อนใช้ แต่ต้องให้มีความเข้มข้น 0.1% ขึ้นไป ซึ่งในไฮเตอร์มีสารชนิดนี้อยู่ 6.0% วิธีการเจือจางจึงเป็น นำน้ำยา 1 ส่วน ผสมกับน้ำเปล่า 59 ส่วน จะได้ความเข้มข้นออกมาที่ 0.1% ส่วนถ้าหากใครอยากให้เข้มข้นขึ้นมาหน่อย ก็สามารถนำน้ำยา 1 ส่วน ผสมกับน้ำเปล่า 11 ส่วนแทนได้ค่ะ
7. สูตรคลอร็อกซ์
สำหรับคลอร็อกซ์มีส่วนผสมจากสารซเดียม ไฮโปคลอไรด์ เป็นสารประกอบสำคัญ มีความเข้มข้น 6% ใช้ในอัตราน้ำยา 1 ส่วน ต่อ น้ำ 11 ส่วน แล้วค่อยนำไปเช็ดถูตามวัสดุต่างๆ มีข้อควรระวังคือ น้ำยาชนิดนี้อาจกัดกร่อนวัสดุพื้นผิวที่เป็นสแตนเลส ในระหว่างทำความสะอาดก็ควรสวมถุงมือ เพราะหาผิวสัมผัสกับน้ำยาโดยตรงอาจเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนได้
8. สูตรโทมิ สูตร 1
มาต่อกันที่น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ โทมิ (TOMI) สูตร 1 มีสารเบนซาลโคเนียม คลอไรด์ (Benzalkonium chloride or Alkyl dimethyl benzyl ammonium chloride) ช่วยกำจัดเชื้อไวรัส มีความเข้มข้นแค่ 1.0% ควรผสมน้ำยา 1 ส่วน กับน้ำเปล่า 19 ส่วน และควรตรวจสอบความเข้มข้นก่อนใช้งาน รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้กับผิวหนังโดยตรง
9. สูตรเบตาดีน
ในเบตาดีนมีสารโพวิโดนไอโอดีน (Povidone iodine) ความเข้มข้นของไอโอดีน 1% ใช้ฆ่าเชื้อได้เลย ไม่ต้องเจือจาง แถมยังมีประสิทธิภาพสูง แต่ไม่ควรใช้กับพื้นผิวที่เป็นโลหะ เพราะน้ำยาทำปฏิกิริยากับวัสดุ
10. สูตรเอทิลแอลกอฮอล์
สำหรับเอทิลแอลกอฮอล์ มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป นอกจากจะใช้ทำความสะอาดมือได้แล้ว ยังใช้ทำความสะอาดพื้นผิวของสิ่งของได้ด้วย ซึ่งวิธีการก็ง่ายมาก สามารถนำน้ำไปเช็ดล้างได้โดยไม่ต้องเจือจาง ซึ่งสารจะเริ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อหลังจากเช็ดเสร็จประมาณ 1 นาที
11. สูตรไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์
สำหรับไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้ออ่อนกว่าแอลกอฮลล์ชนิดอื่น สามารถใช้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้เหมือนกัน โดยให้เลือกใช้เป็นไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 70% และไม่ต้องเจือจาง
12. สูตรไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
สุดท้ายแล้วสำหรับสูตรไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เป็นสารที่ช่วยฆ่าเชื้อได้ แถมสลายตัวง่าย ไม่เป็นพิษตกค้าง ซึ่งในการใช้ทำความสะอาดพื้นผิววัตถุควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย 0.5% ทว่าที่ขายส่วนใหญ่มักจะมีความเข้มข้นประมาณ 3.0% จึงต้องนำมาเจือจางก่อน คือ นำน้ำยา 1 ส่วน ผสมกับน้ำเปล่า 5 ส่วน และให้ใช้ทันทีหลังผสมเสร็จ และปล่อยทิ้งไว้ 1 นาทีค่อยล้างออก
ครบแล้วค่ะกับทั้ง 12 สูตรทำน้ำยาฆ่าเชื้อ Covid-19 สะดวกสูตรไหนลองเอาไปผสมใช้กันดูนะคะ เพื่อที่เราจะได้มั่นใจได้ว่าบ้านของเราปลอดภัยจากเจ้าเชื้อไวรัสโควิด19 จริงๆ