สวัสดีค่ะเพื่อนๆชาว GangBeauty วันนี้เรานำสาระความรู้ดีๆมาฝากกันอีกเช่นเคย ครั้งนี้ว่าด้วยเรื่องของ โรคซึมเศร้า โรคที่ช่วงหลายปีหลังมานี้เราได้ยินชื่อกันบ่อยๆ คนดังหลายคนฆ่าตัวตาย และถูกระบุว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่ยังมีหลายคนที่ยังไม่เข้าในลักษณะอาการของโรค ไม่รู้ว่าควรปฏิบัติตัวต่อผู้เป็นโรคซึมเศร้าอย่างไร หรือแม้แต่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคซึมเศร้า ตามไปหาคำตอบกันเลยดีกว่า ว่าจริงๆแล้วโรคซึมเศร้าคืออะไร อะไรคือสาเหตุ แล้วการเข้าวัดจะช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้จริงหรือไม่?
โรคซึมเศร้า ( Depression ) ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามันคือโรค คืออาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการเยียวยารักษาอย่างถูกวิธี ดังนั้น หากคนใกล้ตัวของคุณ กำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้า การแนะนำให้ไปเข้าวัด นั่งสมาธิ อย่าคิดมาก ทำใจให้เข้มแข็ง เพื่อคลายความเศร้า ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง! ทั้งยังอาจเพิ่มรอยแผลในจิตใจให้กับผู้ป่วยโดยไม่ตั้งใจ ทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจอย่างแท้จริง
อาการเศร้าต่างจากโรคซึมเศร้า
แน่นอนว่าทุกคนเคยเศร้า เคยผิดหวัง เสียใจ เผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ไม่นานคุณก็จะรู้สึกดีขึ้น แต่สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ความผิดปกติของร่างกายทำให้สภาวะอารมณ์ไม่คงที่ ตกอยู่ในหลุมของความทุกข์ โทษตัวเอง รู้สึกว่าชีวิตไร้ค่า ไม่มีเป้าหมายในชีวิต นำไปสู่การคิดฆ่าตัวตาย
ชีวิตก็ดีทำไมเป็นโรคซึมเศร้า / โรคของคนอ่อนแอ?
อาการของโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นจากหลายๆปัจจัยประกอบกัน พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย การรู้สาเหตุอาจทำให้คุณเข้าใจผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักๆมีดังนี้
1. การทำงานของสมอง ภาวะซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมดุลสารเคมีในสมอง ที่มีมากหรือน้อยเกินไป ต้องได้รับยาเพื่อปรับสมดุล
2. ทัศนคติของผู้ป่วย ลักษณะนิสัยเฉพาะตัวบางประการ ทัศนคติหรือมุมมองที่มีต่อโลก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ผู้ที่มีทัศนคติแง่ลบ ไม่มั่นใจในตัวเอง จึงมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ง่าย
3. เหตุการณ์ในชีวิต ความเศร้าจากการสูญเสีย เจ็บป่วย ตกงาน ปัญหาด้านความสัมพันธ์ เผชิญความรุนแรง หรือถูกคุกคามทางเพศ แต่ละคนมีความสามารถในการรับมือและแก้ปัญหาเหล่านี้ต่างกัน แต่สำหรับผู้ที่มีลักษณะนิสัยอ่อนไหวต่อสิ่งกระทบนั้น ความเศร้าและความเสียใจต่างๆ อาจมีความรุนแรงขึ้น ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้
4. ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เมื่อพันธุกรรมทำงานผิดปกติไป ร่างกายก็เปลี่ยนไปซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
5. ผลข้างเคียงของยา ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาโรคความดันโลหิต
6. เจ็บป่วยร้ายแรง ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายเเรง เรื้อรัง มีความคิดหมกหมุ่นกับความเศร้า เช่น โรคหัวใจ เอดส์ มะเร็ง ผู้พิการ มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย
เมื่อทราบถึงสาเหตุที่เเท้จริงแล้ว คงจะเปิดมุมมองใหม่ๆ และเข้าใจได้แล้วว่า โรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคของคนอ่อนแอ ผู้ป่วยไม่สามารถเยียวยาด้วยตัวเองได้ การแนะนำให้เข้าวัด เลิกเครียด ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ทางที่ดีที่สุดคือพาไปพบเเพทย์เพื่อประเมินหาทางรักษา โรคนี้สามารถหายขาดได้ บางรายอาจสามารถบำบัดด้วยการพูดคุย ให้ผู้ป่วยได้ระบาย มีคนรับฟัง บางรายต้องให้ยาต้านเศร้าอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญที่สุดคือกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง