เปิดประวัติ พระเทพวิทยาคม หรือ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา ที่แม้ท่านจะละสังขารไปตั้งแต่ปี 2558 ยังคงมีพุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์นับถือเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก
ประวัติ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ จากหนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่ และครูใหญ่พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)
หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม 2466 แรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ณ บ้านไร่ หมู่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ประกอบด้วย 1. หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ 2. นางคำมั่น วงษ์กาญจนรัตน์ 3. นางทองหล่อ เพ็ญจันทร์
เมื่ออายุได้ 11 ปี มารดาเสียชีวิต บิดานำไปฝากเป็นศิษย์วัดบ้านไร่ โดยมีพระอาจารย์เชื่อม วิรโช พระอาจารย์ฉาย กิตติญโญ และพระอาจารย์หลี อารกขยโย เป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาขอม
เมื่ออายุครบ 21 ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2487 โดยพระครูวิจารยติกิจ เจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสี วัดบ้านจั่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสุข วัดโคกรักษ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ต่อมาได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแดง ชินบุตโต วัดบ้านหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา และหลวงพ่อคง พุทธสโร วัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุดทด จังหวัดนครราชสีมา
การศึกษาขณะเป็นสมณะ สอบได้นักธรรมชั้นตรี ที่สำนักเรียนวัดถนนหักใหญ่ เมื่อได้ศึกษาพระธรรมวินัยด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวทเป็นอย่างดีแล้ว ได้ออกเดินธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าจากวัดบ้านไร่สู่พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม และเข้าสู่ประเทศลาว (สปป.ลาว) ในประเทศลาวได้ธุดงค์ไปหลายที่ เช่น ภูเขาควาย หลวงพระบาง ทุ่งไหหิน แก่งหลี่ผี มหานทีสี่พันดอน และเข้าสู่ประเทศกัมพูชา ปี พ.ศ. 2500 หลังจากการเดินธุดงค์แล้ว หลวงพ่อกลับมาจำพรรษา ณ วัดบ้านไร่ การจำพรรษาของหลวงพ่อในแต่ละปีนั้น ท่านได้จำพรรษาไปตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย
ขณะที่ หลวงพ่อคูณกลับมาจำพรรษา ณ วัดบ้านไร่ นั้น ท่านได้นำชาวบ้านก่อสร้างโรงเรียนบ้านไร่ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากทางราชการแต่อย่างใด และยังบริจาคเงินก่อสร้างวัด หน่วยงานราชการต่างๆ มากมาย ทั้งโรงพยาบาล สถานีอนามัย โรงเรียน วิทยาลัย สถานีตำรวจ บ้านพักตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ ถนน รวมทั้งบริจาคเงินเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยชีวิต รถพยาบาล รถดับเพลิง เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น
จากคุณงามความดีของท่านมากมาย จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ ณ พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง ดังต่อไปนี้
– 12 สิงหาคม 2535 พระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ ที่พระญาณวิทยาคมเถระ
– 10 มิถุนายน 2539 พระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ เลื่อนสมณศักดิ์ที่พระราชวิทยาคม
– 12 สิงหาคม 2557 รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ เลื่อนสมณศักดิ์ที่พระวิทยาคม
และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2546
หลวงพ่อคูณได้ถวายเงินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย วันที่ 11 มกราคม 2538 ณ วัดบ้านไร่ จำนวน 72,000,000 บาท (เจ็ดสิบสองล้านบาท) และถวายอีกครั้งในวันที่ 18 เมษายน 2551 ณ พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวัง จำนวน 100,000,000 บาท (หนึ่งร้อยล้านบาท) ประมาณการเงินที่บริจาคเพื่อเป็นปัจจัยสร้างวัด หน่วยงานราชการและเอกชน เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ สาธารณสงเคราะห์ มีมากถึง 4,000,000,000 บาท (สี่พันล้านบาท)
หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ มรณภาพ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 สิริอายุ 92 ปี 71 พรรษา