แม้เท้าจะเป็นอวัยวะที่คนส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้ให้ความใส่ใจในการดูแลมากนัก แต่อย่างไรก็ดีเรื่องของกลิ่นเท้า คงไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากมี ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่มีกลิ่นเท้า ควรจะหาวิธีแก้ไขเพื่อรักษาภาพลักษณ์ และสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง ซึ่งบางทีหากได้ออกไปพบปะกับเพื่อน ผู้ใหญ่ ลูกค้า หรือเดทครั้งแรก แล้วต้องถอดรองเท้าและปรากฎว่า กลิ่นเท้าของคุณไม่โอเคเลยแบบนี้ก็คงไม่ไหวนะ
กลิ่นเท้า เกิดจากอะไร ?
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดกลิ่นเท้า มาจากแบคทีเรียและเหงื่อที่ออกบริเวณเท้า ซึ่งบริเวณเท้าจะมีต่อมเหงื่อจำนวนมาก ที่ผลิตเหงื่อออกมาในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป และนอกจากนี้สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดกลิ่นเท้าก็ยังมีอีก นั่นก็คือการใส่รองเท้า-ถุงเท้าที่ไม่สะอาด อับชื้น หรือใส่เป็นเวลานาน รวมถึงการใส่รองเท้าไปเดินลุยน้ำมาก ก็ทำให้เกิดกลิ่นเท้าได้อีกเช่นเดียวกัน
วิธีแก้เมื่อมีกลิ่นเท้า
1. รักษาความสะอาดของเท้า ด้วยการล้างเท้าโดยใช้สบู่ถู และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง ส่วนใครที่มีกลิ่นเท้าแรงกว่าปกติ อาจจะใช้วัตถุดิบอื่นๆ ที่หาได้ง่ายอย่างเช่น เบคกิ้งโซดา ที่มีคุณสมบัติช่วยลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ โดยผสมกับน้ำ แล้วแช่เท้านาน 20 นาที ทุกคืนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เป็นต้น
2. รักษาความสะอาดของรองเท้า ด้วยการนำรองเท้าไปตากแดด หรือทำการซักบ้าง อย่างน้อยเดือนละครั้งก็ยังดี เพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรีย เลือกใส่รองเท้าระบายอากาศได้ดี หรือไม่คับจนเกินไป รวมถึงใส่ถุงเท้าคู่ใหม่ทุกวัน
3. ใช้ผงระงับกลิ่นเท้า ซึ่งปัจจุบันที่ได้รับความนิยมก็ได้แก่ ผงระงับกลิ่นเท้า สเปรย์ฉีดเท้า เป็นต้น
หากปัญหากลิ่นเท้าค่อนข้างรุนแรงทำอย่างไรก็ไม่หาย จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจมีแนวโน้มเป็นโรคเท้าเหม็นได้
โรคเท้าเหม็น
ซึ่งโรคเท้าเหม็น (pitted keratolysis) ไม่ใช่โรคใหม่ แต่พบมานานแล้วถึง 90 ปี และพบบ่อยที่สุดในผู้ที่ชอบเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำในหน้าฝน เมื่อผิวหนังชั้นขี้ไคลของฝ่าเท้าเปียกชื้นจากเหงื่อหรือน้ำที่เจิ่งนอง จะทำให้ผิวหนังยุ่ยและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย โรคเท้าเหม็นพบมากในประเทศเขตร้อน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่พบได้บ่อยกว่าในผู้ชาย เพราะมีเหงื่อออกที่ฝ่าเท้ามากกว่า และผู้ชายมักสวมถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา
ยาที่ใช้รักษาโรคเท้าเหม็น
– ยาที่ลดความอับชื้น เช่น 20% Aluminium Chloride เป็นผงแป้ง ใช้วันละ 1 ถึง 2 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง หากยังคงมีเหงื่อออกมาก แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการฉีด Botulinum Toxin ที่ฝ่าเท้า เพื่อระงับ สัญญาณที่มาจากสมองไปยังต่อมเหงื่อเพื่อให้ลดการสร้างเหงื่อที่เท้า โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
– ยาทาที่ช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย เช่น Clindamycin, Erythromycin เป็นต้น
– ยาที่ช่วยให้ผิวหนังลอกและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Benzoyl peroxide เป็นต้น