เจอคนชอบโกหกจนเป็นนิสัย สงสัยว่าเขาป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอะไรหรือเปล่า มาทำความรู้จักโรคมโน อาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่งที่คนเริ่มเป็นกันเยอะขึ้น
คำว่ามโนกลายเป็นคำแซวขำๆ เวลาที่เราพูดถึงหรือสมมติตัวเองเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แต่ใต้คำว่ามโนจริงๆ แล้วหากอาการหนัก มีพฤติกรรมชอบมโนจนติดเป็นนิสัย ทางจิตแพทย์มีคำอธิบายถึงอาการนี้ด้วยนะคะ เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จัก โรคมโน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Pseudologia fantastica กันดีกว่า โรคนี้คืออะไรกันแน่
โรคมโน อาการป่วยทางจิตที่มีอยู่จริง
โรคมโน ภาษาอังกฤษคือ Pseudologia fantastica โดยรากศัพท์เป็นภาษาละตินที่มีความหมายว่า การโกหกที่ควบคุมไม่ได้ หรือการจินตนาการที่โอเว่อร์จนเกินไป หามูลความจริงไม่ได้นั่นเอง ทั้งนี้ โรคมโนจัดเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างหนึ่งในกลุ่มภาวะการโกหกตามทฤษฎีทางจิตวิทยา มักพบอาการนี้ในกลุ่มวัยรุ่นตอนกลางขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และอาจจะต่อเนื่องไปเรื่อยจนถึงวัยชราได้
โรคมโน เกิดจากอะไร
ทางจิตแพทย์เชื่อว่า โรคมโนมีสาเหตุมาจากความต้องการหนีปัญหาในรูปแบบหนึ่ง หรือมีความต้องการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปด้วยจินตนาการตามสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น โดยผู้ที่มีภาวะนี้อาจมีลักษณะต่อต้านสังคม ขาดสังคม หรือมีพฤติกรรมขาดความเชื่อมั่นในตัวเองร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของโรคมโนอาจเกิดจากปัญหาในวัยเด็ก เช่น ไม่ได้รับความใส่ใจ ไม่เป็นที่สนใจของคนรอบข้าง จนผลักดันให้เขาสร้างโลกแห่งจินตนาการที่ตัวเองต้องการ โดยบางคนอาจโกหกเพื่อเป็นการเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นๆ และโกหกเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง โดยไม่สนว่าเรื่องที่โกหกจะไม่มีมูลความจริง และการโกหกนั้นอาจสร้างปัญหาให้บุคคลอื่น
โรคมโน อาการเป็นอย่างไร
อาการโรคมโนที่เข้าข่ายเป็นภาวะทางจิตเวชสามารถสังเกตได้จากอาการ ดังนี้
1. มักโกหกในเรื่องที่ทำให้ตัวเองดูน่าสนใจ โกหกในเรื่องที่จะทำให้คนอื่นประทับใจในตัวเองได้
2. ผู้ป่วยมีพฤติกรรมโกหกว่าตัวเองมีดี พูดให้ตนเองดูดีและถูกอยู่เสมอ และมักจะแสดงให้คนอื่นเห็นถึงความดี ความเจ๋งของตัวเอง พร้อมกับใส่ร้ายผู้อื่นในคราเดียวกัน
3. ผู้ป่วยมักจะพูดโกหกได้อย่างแนบเนียน มีอินเนอร์ในการพูดโกหกเรื่องนั้นๆ เพราะเชื่อว่าเรื่องที่โกหกไปเป็นความจริง
4. ผู้ป่วยมักจะกุเรื่องขึ้นมาเป็นตุเป็นตะ โดยทำให้เสมือนเป็นเรื่องจริง และมักจะโกหกเป็นระยะเวลายาวนาน ต่อเนื่องกันไป
5. พฤติกรรมการโกหกจะมีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกันไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม อาการมโนของผู้ป่วยมักจะมีรากฐานมาจากความต้องการลึกๆ ในใจ ทั้งนี้ พฤติกรรมมโนไปเรื่อยๆ มักจะผลักดันให้ผู้ป่วยเชื่อในคำโกหกของตัวเองจริงๆ ส่งผลให้เมื่อโกหกผู้อื่นเลยจะค่อนข้างเนียน และดูเหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ด้วย
โรคมโน รักษาอย่างไร
แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโรคมโน หรือโรคโกหกตัวเอง ทว่าทางจิตแพทย์แนะนำให้รักษาผู้ป่วยโรคมโนด้วยกระบวนการพฤติกรรมบำบัดเป็นหลัก โดยอาจจะเสริมตัวยาคลายเครียด คลายกังวล และยาทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย
โรคมโนจริงๆ แล้วสามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่ผู้ป่วยต้องยอมรับและเข้าใจอาการป่วยของตัวเอง พร้อมทั้งให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวออกมาสู่โลกแห่งความจริง ใช้ชีวิตแบบจริงๆ ได้อีกครั้ง