สารกันบูด เป็นสารเคมีที่นำไปใส่ลงในอาหาร นำไปพ่นหรือฉาบรอบๆ ผิวของอาหารหรือภาชนะที่บรรจุอาหาร เพื่อคงคุณภาพของอาหารไม่ให้เกิดการเน่าเสีย หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของกลิ่น สี และรสชาติ ซึ่งสารกันบูดมีฤทธิ์ทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เช่น รา ยีสต์ หรือแบคทีเรีย
: sodiummetabisulfitepowder.com
โดยอาหารที่มักใส่สารกันบูด ได้แก่ ผักผลไม้ดอง พริกแกง เครื่องดื่มบางชนิด ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่บางชนิด ผลิตภัณฑ์จากแป้งอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน หรือวุ้นเส้น และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์อย่างลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอก
และหากรับประทานอาหารที่เจือปนสารกันบูดในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย หรือหมดสติได้ ดังนั้นควรระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหารแปรรูปมากเป็นพิเศษ เพราะอาจมีสารกันบูดเจือปนอยู่ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
อาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดจากอาหารที่เจือปนสารกันบูดในปริมาณมาก
-วิงเวียนหรือปวดศีรษะ -คลื่นไส้ อาเจียน -ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร -ท้องเสีย -อาหารเป็นพิษ -กลไกการดูดซึมสารหรือการใช้สารอาหารในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป -มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต -เป็นภาวะเมทฮีโมโกลบินนีเมีย ที่อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก ตัวเขียว เป็นลม และหมดสติ -อันตรายมากหากเกิดในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะซีด หรือผู้ที่เป็นโรคเลือด และหากเด็กได้รับสารกันบูดติดต่อกันนานๆ ก็อาจส่งผลให้เป็นไฮเปอร์ได้ด้วย
วิธีหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารกันบูด
1. ทำอาหารทานเอง
2. ทานอาหารปรุงสดใหม่
3. ไม่รับประทานอาหารแปรรูป
4. เลือกซื้ออาหารที่มีฉลากบรรจุภัณฑ์ระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น สถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายและเลขสารบบอาหารของ อย.
5. เลือกผลิตภัณฑ์อาหารออแกนิค โดยเฉพาะอาหารที่มีการรับรองว่าปลอดสารกันบูด หรือเลือกซื้ออาหารที่ใช้สารกันบูดที่ไม่เป็นอันตราย
6. หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารประเภทเดิมซ้ำๆ และรับประทานอาหารอย่างหลากหลาย เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมสารพิษในร่างกาย
7. หลีกเลี่ยงการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีสีสดเกินไป เพราะอาจเจือปนสารตรึงสีที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้