เป็นข่าวบ่อยเหลือเกินกับกรณีของไปรษณีย์ไทยที่ถูกกล่าวหาว่าทำของเสียหายบ้างล่ะ โยนกล่องพัสดุกันตู้มต้ามบ้างล่ะ ก็แหม เข้าใจเค้าแหละ กล่องตั้งกี่ใบ ของตั้งกี่ชิ้น มาหยิบวางทีละกล่องมันจะส่งของได้ทันใจผู้รับมั้ยล่ะ ฉะนั้น Gangbeauty ว่าทางแก้ที่ง่ายที่สุดสำหรับปัญหานี้ก็อยู่ที่ตัวคนแพ็คของก่อนส่งไปนั่นแหละ ถ้าเธอรู้อยู่แล้วว่ามันอาจเป็นอันตราย ก็หาวิธีแพ็คให้มันปลอดภัยมากขึ้นสิ เทคนิคที่กำลังจะบอกก็ดีอะ จะเอาไปใช้ดูก็ได้นะ ไม่ว่ากัน
1. ใช้กล่องใหม่
แม้ว่าการนำกล่องเก่ากลับมาใช้ใหม่จะเป็นเรื่องดี ช่วยลดโลกร้อน หนูเป็นน้องเนยรักษ์โลกค่ะ แต่เธอจ๋า กล่องเก่ามันเคยโดนกระแทกกระทั้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ความแข็งแกร่งมันก็ไม่เยอะเท่ากล่องใหม่หรอก ฉะนั้นถ้าของที่จะส่งไป เป็นของที่แบบ แตกง่าย เสียหายไม่ได้เลย กระแทกไม่ได้เลยไรเงี้ย ซื้อกล่องใหม่เถอะ กล่องเก่าเอาไว้แพ็คของอย่างอื่นที่มันโยนๆได้ดีกว่า เช่นพวกเสื้อผ้าไรเงี้ย หรือถ้ามันจำเป็นต้องรียูส ให้เธอหาซื้อโฟมอะ มารองไว้เพิ่ม มันช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง แถมยังใช้แล้วใช้อีกได้ ไม่สึกหรออีกด้วย
2. ใช้แผ่นรองกระแทก
ไอ้แผ่นกันกระแทกที่เป็นพลาสติกมีตุ่มลมๆ มันไม่ได้มีไว้ให้เธอใช้บีบเล่นอย่างเดียวนะ หน้าที่ของนางคือการดูดซับแรงกระแทกต่างๆที่ประเดประดังเข้ามารุมทำร้ายของที่อยู่ข้างในกล่อง ซึ่งส่วนใหญ่เธอจะใส่กันแค่ไหน หุ้มกันชั้นเดียวพอจ้า เสร็จแล้วก็มาบ่นว่าเหย ของเสียหายไรงี้ คือแผ่นกันกระแทกมันไม่ได้หนักอะไรเลยอะ มีแต่ลม ใส่ไปเถอะ ใส่ไปเยอะๆเพื่อความปลอดภัยของพัสดุ มันไม่ทำให้น้ำหนักพัสดุเพิ่มขึ้นหรอกเธอ
3. วัสดุที่ใช้ทำกล่องก็มีผล
เพราะกล่องไปรษณีย์ เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นจะต้องซื้อจากแค่ไปรษณีย์เท่านั้น มันมีทำออกมาขายกันหลายเจ้าเลยล่ะ ซึ่งแต่ละเจ้า ดีไซน์ต่าง วัสดุก็ต่าง กระดาษแต่ละอย่างมันรับน้ำหนักได้ไม่เท่ากันหรอก เช่นว่ากระดาษลูกฟูกงี้ มันทนทานต่อแรงกระแทกได้ดีก็จริง แต่ถ้าเอามาใช้ซ้ำ ความสามารถที่จะรับน้ำหนักได้มันก็ไม่เท่าเดิม มันรับแรงกระแทกได้น้อยลงแบบครึ่งๆเลย ฉะนั้นวัสดุของกล่องก็มีผลกับความปลอดภัยของพัสดุ ล้านเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
4. ช่องว่างในกล่องก็สำคัญ
ถ้าของที่เธอกำลังจะส่งมันแตกง่าย เปราะบาง เหมือนใจของเธอ ก็ควรจัดวางอย่าแน่นไป ให้มันมีอากาศหายใจ มีช่องว่าง คือเวลาแพ็คของต้องดูให้ดีอะ ช่องไฟไรเงี้ย ว่ามันเหมาะกับของมั้ย ง่ายๆ ถ้าเธอเป็นแม่ค้าขายขนมออนไลน์ ลูกค้าสั่งคุ้กกี้ ถ้าเว้นช่องว่างอากาศมากไป คุ้กกี้ก็อาจจะแหลกเป็นเม็ดทรายได้ แต่ถ้าแพ็คไปพร้อมของอย่างอื่น เพื่อให้ของอย่างอื่นช่วยอุดช่องว่างในพัสดุ ของอย่างอื่นมันก็อาจจะกระแทกกับคุ้กกี้เรา แหลกเป็นเม็ดทรายเหมือนเดิม ต้องดูให้ดี
5. ขนาดกล่อง อย่ามองข้าม
ไม่ใช่ว่ากล่องขนาดพอดีกับวัสดุ หรือใหญ่กว่าพัสดุมันใส่ของได้ก็จับยัดท่าเดียว ถ้าของชิ้นกระต๋อย แต่ล่อกล่องซะใหญ่เบิ้มโดยที่ไม่มีอะไรมารองกระแทกทั้งนั้น นึกภาพตอนมันขึ้นรถไปสิ กระเด้งกระดอนเป็นลูกชิ้นแน่นอน คือยังไงก็ได้ เลือกกล่องให้มันพอเหมาะกับของที่จะใส่อะ ไม่แน่น ไม่กลวงจนเกินไป ยิ่งใส่แผ่นกันกระแทก มันยิ่งปลอดภัยมากขึ้น
6. พึ่งพาคนทำเป็นบ้าง
แม่ค้าออนไลน์ตัดทิ้ง อันนี้เธอควรทำเอง ของเยอะ เกรงใจ แต่ถ้าของแค่ชิ้นสองชิ้น ก็ให้คนทำเป็นเค้าช่วยทำให้บ้างก็ได้ ในไปรษณีย์แทบจะทุกที่อะ ตรงที่ขายกล่อง เค้าจะแพ็คให้ด้วยนะถ้าเธอร้องขอให้เค้าช่วย ซึ่งคนพวกนี้เค้ารู้ไงว่าต้องแพ็คแบบไหนให้กล่องมันแข็งแรง ปึ๋งปั๋ง สู้แรงกระแทกได้ดี ตามบริษัทเอกชนเดี๋ยวนี้ก็มีเยอะแยะ แพ็คให้อะ ไม่ต้องเขินหรอก
7. ดูฝนฟ้าอากาศ
สภาพอากาศ ฟ้าฝนนี่ก็มีผลกับความปลอดภัยของพัสดุเหมือนกันนะ สมมติเข้าหน้าฝนพอดี แพ็คเสื้อผ้าไปอย่างดี ถึงมือคนรับเป็นไง เปียกเป็นลูกหมา อับชื้น เหม็น ทำให้เป็นปัญหาไม่พอใจกันเปล่าๆ ฉะนั้นถ้ารู้ว่าของในกล่องเปียกไม่ได้ ก่อนแพ็คก็รู้จักป้องกันความเปียกนั้นไปด้วยก็ดี ใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นก็ได้ ไม่เหนือบ่ากว่าแรงหรอก
แค่นี้ก็ปลอดภัยไปกว่า 85% แล้วเห็นมะ!