อาการเจ็บปวดตามร่างกาย นั้นถือเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติของร่างกาย ว่าภายในร่างกายของเราเริ่มเสื่อมสภาพแล้ว และถ้าหากคุณเกิดอาการเหล่านั้นในช่วงอายุที่น้อยอยู่ล่ะ นั้นอาจเป็นเพราะสาเหตุที่คุณมีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายโดยไม่รู้ตัว วันนี้ gangbeauty นำข้อปฏิบัติที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ทำร้ายกระดูก หรือ โรคกระดูกพรุนก่อนวัยอันควร !!!
1. สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อย จึงทำให้กระดูกไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอต่อการสร้างความแข็งแรง
2. ดื่มแอลกอฮอล์
เช่นเดียวกันกับบุหรี่ แอลกอฮอล์จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้กระดูกได้รับแคลเซียมไม่เพียงพออีกเช่นกัน
3. ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่นๆ ก็ทำให้กระดูกเสื่อมได้ง่ายขึ้น เพราะคาเฟอีนจะทำให้ร่างกายขับเอาแคลเซียมออกไปจากร่างกายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้น้ำอัดลมยังมีกรดฟอสฟอรัสที่อาจกัดกระดูกให้กร่อนลงได้อีกด้วย
4. ฮอร์โมนเพศลดลง
เรื่องของฮอร์โมนกับอายุที่มากขึ้น อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วัยหนุ่มสาวบางรายที่ต้องเข้ารับการรักษาโรคอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ ทำให้ฮอร์โมนเพศลดลง เช่น ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูก อาจต้องรับยาฮอร์โมนมาทาน เพื่อปรับความสมดุลให้กับร่างกาย กระดูกจะได้แข็งแรงไม่กร่อนก่อนวัย
5. ขาดการออกกำลังกาย
เชื่อหรือไม่ว่าคนที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าคนที่ออกกำลังกายบ่อยๆ เพราะหากเราไม่ออกกำลังกาย จะทำให้มวลกระดูกสูญเสียความแข็งแรง รวมไปถึงคนชรา หรือคนป่วยที่อยู่ในช่วงพักฟื้น ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวในระยะเวลาหนึ่ง ทำให้สูญเสียความแข็งแรงของกระดูกไปบางส่วนเช่นเดียวกัน
6. ขาดวิตามินดี
หากเก็บตัวอยู่ในบ้านตลอดเวลา หรือไม่เคยสัมผัสถูกแสงแดดยามเช้าที่มีวิตามินดีอยู่ด้วย อาจทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในการสร้างกระดูกน้อยลง แต่ส่วนใหญ่บ้านเราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้เท่าไร เพราะประเทศไทยมีแสงแดดตลอดทั้งปีอยู่แล้ว
7. ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
ปริมาณแคลเซียมในร่างกายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่จะช่วยรักษาให้มวลกระดูกแข็งแรง หากไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว ก็เป็นเหตุให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อยกว่าคนอื่นๆ ได้
8. ทานยาผสมสเตียรอยด์
สเตียรอยด์ที่ผสมอยู่ในยาต่างๆ โดยเฉพาะยาสมุนไพร ยาลูกกลอนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาอย่างถูกต้อง อาจทำลายความแข็งแรงของมวลกระดูกได้