วัด เป็นศาสนสถานและแหล่งที่พึ่งทางใจของชาวพุทธมาช้านานแล้ว อาจนับได้ว่า วัด คือสถานที่บ่งบอกเอกลักษณ์ประจำชาติไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งเธออาจจะมีวัดใกล้บ้าน เป็นวัดประจำที่เธอจะต้องไปทำบุญเสมอ แต่เชื่อได้เลยว่าหลายคน ยังไม่รู้กันหรอกว่ากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี แต่ละพระองค์ก็ทรงมีวัดประจำรัชกาลเช่นเดียวกัน Gangbeauty ขออนุญาตเสริมว่าวัดประจำแต่ละพระองค์นั้น เป็นวัดที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคย และส่วนใหญ่แล้วก็เป็นวัดที่กษัตริย์ทรงสร้าง หรือปฏิสังขรณ์นั่นเองจ้ะ
รัชกาลที่ 1 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
เป็นวัดชื่อดัง และแสนจะเก่าแก่ประจำประเทศสยามมาแต่ช้านาน เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในมรดกโลกเป็นที่เรียบร้อย มีพระเจดีย์มากที่สุดในไทยกว่า 99 องค์ และพระเจดีย์ที่สำคัญคือพระเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระเจดีย์ประจำแต่ละรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-4 นั่นเอง
รัชกาลที่ 2 วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดมะกอก” แต่เชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่า “วัดแจ้ง” เป็นวัดที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์จากจอมกษัตริย์หลายรัชกาล โดยเริ่มต้นปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แต่ยังไม่ทันเสร็จดี ก็สิ้นรัชกาลไปซะก่อน เมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงดำเนินการต่อ ก็ทรงพระราชทานนามใหม่ เป็น “วัดอรุณราชธาราม” ไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาลอีก มีการปฏิสังขรณ์มาจนถึงรัชกาลที่ 4 จึงได้ชื่อปัจจุบันมานั่นเอง
รัชกาลที่ 3 วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
แต่เดิมชื่อ “วัดจอมทอง” เป็นวัดที่เก่าแก่อีกวัด สร้างขึ้นก่อนเกิดกรุงเทพมหานครซะอีก และเรียกได้ว่าเป็นวัดที่มีค่าทางประวัติศาสตร์มาก เพราะเป็นวัดที่รัชกาลที่ 3 ทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม เมื่อครั้งที่ทรงยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ ในปี 2363 โดยชื่อใหม่ รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานให้ว่า “วัดราชโอรส” ซึ่งมีความหมายแทนตัวพระองค์ที่เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 2 นั่นเอง
รัชกาลที่ 4 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามธรรมเนียมประเพณีโบราณ และเพื่อความสะดวกในการทำบุญในวัดใกล้ๆพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพื้นที่ที่ตั้งของวัด ก่อนนั้นเคยเป็นสวนกาแฟของหลวง และเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา ทั้งบาลีและไทย อันเป็นบทพระราชนิพนธ์รวม 10 หลัก
รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
เป็นวัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลในปี 2412 โดยสถาปัตยกรรมก็ตามฉบับของรัชกาลที่ 5 เลยคือเป็นรูปแบบไทยผสมตะวันตก มีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาครบทั้ง 8 ทิศ นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล
รัชกาลที่ 6 วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (พระโอรสในรัชกาลที่ 1) โปรดให้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 แต่ยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นพระชนม์ซะก่อน เป็นรูปแบบไทยผสมจีน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์สำคัญคือหลวงพ่อโต พระพุทธชินสีห์ และพระไพรีพินาศ อีกทั้งยังเป็นที่บรรจรุพระบรมราชสรีรางคาร (อัฐิ) ของรัชกาลที่ 6 เพราะเคยทรงผนวชอยู่ที่วัดนี้ด้วย
รัชกาลที่ 8 วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี 2350 แต่ไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาลก่อน ทำให้มีชื่อเรียกมากมาย ทั้ง “วัดพระโต” “วัดพระใหญ่” “วัดเสาชิงช้า” ในรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และสร้างเสร็จในรัชกาลที่ 3 ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุเสาวรีย์พระอัฐมรามาธิบดี (อัฐิ) ของรัชกาลที่ 8 และในวันที่ 9 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ก็จะมีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทุกปี
รัชกาลที่ 9 วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยพระดำริของรัชกาลที่ 9 ในปี 2538 เพราะพระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับราษฎร โดยบริเวณบึงพระราม 9 อันเป็นที่ตั้งของวัด คือบึงที่พระองค์ใช้ทดลองแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ และปรับปรุงคุณภาพน้ำ นำน้ำสะอาดจากแม่น้ำเจ้าพระยามาชะล้างทำความสะอาดคลอง ระบายสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยอาศัยจังหวะน้ำขึ้น-ลงตามธรรมชาติ อันเป็นการบรรเทาปัญหาในระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อดำเนินการไปได้ระดับหนึ่งก็ทรงให้มีการปรับปรุงชุมชนละแวกนั้น และสร้างวัดให้กับชุมชน หรือก็คือ “วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก” นี้นั่นเอง
รัชกาลที่ 10 วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร (วัดทุ่งสาธิต)
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าแต่ก่อนเคยเป็นวัดร้าง เพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ และล้อมรอบด้วยทุ่งนา จนรัชกาลที่ 9 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราวงกรณ์ (พระยศในขณะนั้น) รับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมป์ เป็นอารามหลวง และพระราชทานนามให้ว่า “วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร”
ส่วนใหญ่ก็เป็นวัดที่เธอรู้จักกันอยู่แล้วนี่ใช่มั้ย?!