ทุกวันนี้มีกฎหมายหลายอย่างที่คุ้มครองแรงงานอย่างเราไม่ให้โดนนายจ้างเอาเปรียบ แต่นั่นไม่ได้หมายว่าลูกจ้างอย่างเราจะมีสิทธิเสรีภาพ ทำอะไรก็ได้ตามใจฉัน เพราะการทำบางสิ่งบางอย่างตามอำเภอใจของลูกจ้าง Gangbeauty บอกเลยว่ากฎหมายก็ไม่เห็นด้วย แถมยังอนุญาตให้นายจ้างลงโทษเป็นการไล่ออกได้ทันทีเลยล่ะ!
1. ทุจริตต่อหน้าที่
คำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรมนั้น มีความหมายว่าการทำชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำใดที่เข้าข่าย 3 คำนี้ นายจ้างมีสิทธิ์ไล่ออกได้โดยไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง เช่น นำอุปกรณ์ของบริษัท ที่มีเอาไว้ใช้งานในบริษัท มาใช้งานส่วนตัวโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ศาลก็ถือว่านี่เป็นการทุจริตเหมือนกัน
pxhere.com
2. กระทำความผิดอาญาต่อนายจ้าง
อะไรก็ตามที่เป็นความผิดทางอาญาทั้งต่อนายจ้างและสังคม ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือประมาท นายจ้างมีสิทธิ์ไล่ออกได้ทันที เช่น เจตนาฆ่าหรือทำร้ายนายจ้าง ทำลายทรัพย์สินของนายจ้างให้ได้รับความเสียหาย ลักทรัพย์ ยักยอกบริษัท ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าสิ่งที่ทำเป็นความผิดทางอาญาต่อสังคม แต่คนบงการคือนายจ้าง หากทำไม่สำเร็จ นายจ้างจะนำมาเป็นเหตุผลในการไล่ออกไม่ได้ หรือถ้าไล่ออกก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย
3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ไม่ว่าจะเป็นการเสียหายทางชื่อเสียง หรือเสียหายทางมูลค่าทางเศรษฐกิจ หากมีความจงใจที่จะทำ อย่างไรก็มีความผิดและมีสิทธิ์ถูกไล่ออกโดยชอบธรรม เช่น นำความลับบริษัทไปเผยแพร่เพื่อแลกมาซึ่งเงิน หรือควบตำแหน่งอยู่ในสองบริษัทที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากัน ศาลนับว่าเป็นความจงใจอย่างร้ายแรง
4. ประมาทเลินเล่อจนทำให้นายจ้างเสียหายร้ายแรง
ข้อนี้เหมือนข้อ 3 แต่เหตุการณ์นั้นต้องเป็นการเสียหายร้ายแรงมากจริงๆ เช่น มีหน้าที่้ต้องตรวจสอบดูแลการทำงานของพนักงานขับรถยนต์ และติดตามทุกชั่วโมง ผลปรากฎว่าลูกจ้างละเลยหน้าที่ เป็นเหตุให้รถสูญหายไป ศาลท่านตัดสินว่านี่ล่ะคือความเสียหายร้ายแรง มีสิทธิ์โดนไล่ออกได้ทันที
www.pexels.com
5. ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งที่นายจ้างกำหนด
ข้อบังคับของนายจ้าง ต่อให้เราจะรู้สึกว่ามันไร้สาระ แต่มันก็เปรียบเสมือนกฎหมายของบริษัทนั่นล่ะ ถ้าฝ่าฝืน นายจ้างก็มีสิทธิที่จะออกหนังสือตักเตือนลูกจ้างได้ หรือถ้าในกรณีร้ายแรงก็ไล่ออกได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าการกระทำฝ่าฝืนดังกล่าวเป็นการกระทำนอกเวลางานและสถานที่ เช่น พนักงานใส่ชุดยูนิฟอร์มของบริษัทไปเล่นไพ่กันนอกสถานที่ทำงาน แล้วโดนตำรวจจับ แม้จะใส่ชุดยูนิฟอร์ม แต่บริษัทก็ไม่ได้มีชื่อเสียงเสียหายร้ายแรงอะไร คนที่โดนเยอะคือตัวลูกจ้างเอง ศาลถือว่ากรณีแบบนี้ ยังไม่เข้าข่ายต้องรับโทษไล่ออก
www.flickr.com
6. ละทิ้งหน้าที่ 3 วันติดกัน
การขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่มีการลาอย่างถูกต้อง ไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือภายใน 3 วันนั้นมีวันหยุดคั่นกลางด้วยก็ตาม นายจ้างสามารถไล่ออกได้ทันที ข้อนี้สำคัญ จำไว้ให้มั่นนะจ๊ะ
pixabay.com
7. ได้รับโทษจำคุกตามคำสั่งศาล
การได้รับโทษคุก ที่นายจ้างจะมีสิทธิไล่ลูกจ้างออกได้ คือการรับโทษคุกจากการกระทำความผิดที่มาจากการ “เจตนา” เท่านั้น ถ้าเป็นเพียงโทษคุกจากความประมาท หรือความผิดไม่ร้ายแรง นายจ้างจะมีสิทธิไล่ลูกจ้างออกได้ก็ต่อเมื่อความผิดนั้นทำให้นายจ้างเสียหายด้วย
การไล่ออกแบบนี้ ไม่มีเงินชดเชยอะไรให้ทั้งนั้น จะทำอะไรคิดให้รอบคอบนะจ๊ะ!