ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เมื่อมีอาการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของตัวเอง เช่น นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง หมกมุ่นแต่เรื่องเดิมๆ ควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโดยด่วน แต่หากไม่แน่ใจว่าเรา หรือคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ และเป็นหนักในแบบที่มีแนวโน้มจะทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายหรือไม่ ควรสังเกตอาการเหล่านี้ให้ดี
คุณนันทนา สุขสมนิรันดร พยาบาลวิชาชีพ ส่วนงานบริการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยไฟฟ้า งานการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลผ่านรายการ RAMA CHANNEL ถึงเรื่อง “การดูแลและสื่อสารกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” เอาไว้ว่า สัญญาณอันตรายที่เป็นอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีแนวโน้มว่าจะทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย มีดังนี้
– เริ่มมีคำพูดที่แปลกไป ไม่เหมือนเคย เช่น “ไม่อยากมีชีวิตอยู่”
– ซึม แยกตัว ไม่สุงสิงกับใคร
– ลองสอบถามถึงสิ่งที่เตรียมแผนว่าจะทำในอนาคตกันใกล้ ส่วนใหญ่หากเป็นคนใกล้ชิด ผู้ป่วยอาจบอกตามตรงว่ากำลังวางแผนจะทำอะไร เช่น หาวิธีจะฆ่าตัวตายอยู่ เป็นต้น
นอกจากนี้เรายังขอแนะนำอาการอื่นๆ ที่สามารถสังเกตได้เพิ่มเติม เช่น
– คุยน้อยลงผิดปกติ หรืออาจร่าเริงผิดปกติ
– ไม่อยากทำสิ่งต่างๆ ที่เคยรัก เคยชอบทำมาก่อน
– มีประวัติหาข้อมูลการทำร้ายร่างกายในอินเตอร์เน็ต
– อ่อนเพลียจากการไม่ค่อยได้พักผ่อน และมีเรื่องเครียดอยู่ตลอดเวลา
หากมีสัญญาณอันตราย เตือนภัยโรคซึมเศร้า ควรนัดพบจิตแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาต่อไป
ลักษณะคำพูดที่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
คุณนันทนา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลักษณะของคำถามที่เราควรถามกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หากสงสัยว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หรือกำลังคิด กำลังจะทำสิ่งใดอยู่ ควรเลือกเป็นคำถาม “ปลายเปิด” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้คิด ได้อธิบายให้ฟังยาวๆ และเราซึ่งเป็นคนถามควรรับหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่รีบตัดสิน หรือให้คำแนะนำเขาในช่วงที่เขากำลังอธิบาย หรือบอกเล่าความในใจอยู่ โดยสามารถสอบถามให้เขาเล่าให้ฟังออกมาได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเรารับฟังอย่างตั้งใจ เช่น “อะไรที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น”
ลักษณะคำพูดที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
คำพูดที่เป็นการตัดสินว่าสิ่งที่ผู้ป่วยคิดเป็นเรื่องที่ผิด และผู้ป่วยยังมีคึวามอดทนไม่เพียงพอ เช่น “อย่าคิดมากสิ” “คนอื่นเจอมาหนักกว่ายังไม่เห็นเป็นอะไร” หรือการตอบรับไปส่งๆ โดยที่เราไม่ได้อยากยื่นมือช่วยเหลือ เช่น “สู้ๆ นะ” “เดี๋ยวมันก็ผ่านไปเองแหละ” รวมถึงคำพูดที่ขึ้นต้นด้วยคำถาม เช่น “ทำไม…” ที่เป็นการสงสัยในความรู้สึก และการตัดสินใจของผู้ป่วยว่าอาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่กว่าเดิม
วิธีรักษาโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางประสาทชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถหายได้ด้วยการทำบุญตักบาตร นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ ฯลฯ แต่อย่างใด จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ โดยจะได้รับการรักษาใน 3 รูปแบบตามอาการของแต่ละคน
1. การรักษาทางกาย คือ การรักษาด้วยอาหาร ยา การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
2. การรักษาทางจิต ปรับสภาพอารมณ์ จิตใจ โดยแนะนำวิธีจัดการกับอารมณ์ และความเครียด
3. การรักษาทางสังคม โดยส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้ศักยภาพ และความสามารถของตัวเองให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ และส่งเสริมการเข้าร่วมทำกิจกรรมกับสังคม เป็นต้น