วิธีแก้ง่วงเวลาขับรถ แนะนำ 7 เคล็ดลับหลีกเลี่ยงอาการขับรถหลับในตอนเดินทางไกลหรือต้องขับรถตอนกลางคืน ทริกง่ายๆ ช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะหลับใน หรือ อาการหลับใน เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และก่อให้เกิดความสูญเสียรุนแรงอย่างที่หลายคนขาดไม่ถึง ซึ่งจะเกิดขึ้นบ่อยมากๆ ในช่วงเทศกาลหยุดยาวที่คนส่วนใหญ่ต้องขับรถทางไกล หรือขับขี่ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น เราจึงได้นำ 7 วิธีแก้ง่วงเวลาขับ ป้องกันการขับรถหลับใน มาให้ผู้ขับขี่ทุกคนได้ลองอ่านและทำความเข้าใจกันครับ…
ภาวะหลับใน หรือ อาการหลับใน คืออะไร ?
ภาวะหลับใน คือ การเผลอหลับเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-2 วินาที หรือบางคนอาจเป็นนานกว่านั้น แม้ฟังดูเหมือนแป๊บเดียว แต่ถ้าหากขับรถมาด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวรถสามารถเคลื่อนที่ไปได้ไกลถึง 25 – 50 เมตรเลยทีเดียว ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนได้
สาเหตุของการหลับใน
ภาวะหลับในสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจาก การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ นอนน้อย นอกจากนี้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ผลข้างเคียงจากการกินยา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโรคประจำตัว ก็มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของการหลับในได้เช่นกัน
วิธีป้องกันภาวะหลับในระหว่างขับรถ
1. นอนหลับให้เพียงพอ
วิธีแก้ที่ตรงจุดที่สุดคงหนีไม่พ้น การนอนหลับให้เต็มอิ่มอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า สมองทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และมีสมาธิในการขับรถมากยิ่งขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ขับขี่ที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสประสบอุบัติเหตุมากกว่าคนนอนเต็มอิ่มถึง 5 เท่าเลยทีเดียว
2. ปรับตารางนอนในชีวิตประจำวัน
บางครั้งการหยุดพักผ่อนล่วงหน้า 8 ชั่วโมงอาจไม่เพียงพอ เพราะหลายคนประสบปัญหานอนน้อยหรือนอนหลับไม่สนิทติดต่อกันหลายสัปดาห์ ซึ่งทำให้เกิดอาการง่วงซึมตลอดเวลา ตอบสนองช้าและเสี่ยงต่อการหลับในระหว่างขับรถ ดังนั้นผู้ขับขี่ควรปรับตารางนอนในชีวิตประจำวันให้ลงตัว หรืออย่างน้อยควรพักผ่อนให้เต็มที่ติดต่อกัน 3-4 วันต่อสัปดาห์
3. แวะพักระหว่างทาง
ในระหว่างขับรถสมองและร่างกายของผู้ขับขี่ต้องทำงานหนักไปพร้อมๆ กัน ส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย ยิ่งตอนกลางคืนยิ่งเสี่ยงต่ออาการหลับใน ทางที่ดีควรหยุดพักทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือทุก 160 กิโลเมตร เพื่อล้างหน้าล้างตา ยืดเส้นยืดสายให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา หรือหากผู้ขับขี่รู้สึกง่วง แนะนำว่าควรตั้งนาฬิกาปลุกแล้วงีบหลับสัก 20-30 นาที วิธีนี้จะช่วยป้องกันการหลับในได้ดีมากๆ
4. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีผลข้างเคียง
ทั้งก่อนขับรถและขณะเดินทาง ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอย่างเด็ดขาด ! เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเพียงนิดเดียว ก็มีผลทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง และอาจนำไปสู่การหลับในเฉียบพลันได้
นอกจากนี้ควรงดกินยาระงับประสาท ยาแก้ปวด ยาแก้ หรือยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมด้วย อย่างไรก็ตามหากเป็นยารักษาโรคที่ต้องกินเป็นประจำ ให้ขอคำปรึกษาแพทย์กับโดยตรงหรือขอปรับยาเป็นตัวที่ไม่มีผลข้างเคียงแทน
5. หลีกเลี่ยงการขับขี่ในช่วงเวลา 24.00-07.00 น.
เนื่องจากช่วง 24.00-07.00 น. คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการนอนหลับในเวลานี้ ดังนั้นในระหว่างขับขี่อาจเกิดอาการง่วงซึมหรือหลับในได้
6. พาเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย
การมีผู้โดยสารร่วมเดินทาง ไม่เพียงแต่จะช่วยพูดคุยกระตุ้นสมองให้ทำงานตลอดเวลาเท่านั้น แต่ยังช่วยจับตาดูการขับขี่ของคุณและเตือนคุณเมื่อมีอาการอ่อนเพลีย อีกทั้งยังสามารถสลับกันขับแบ่งเวลาพักผ่อนได้อีกด้วย
7. ใช้คาเฟอีน หรือกินอาการแก้ง่วง
การใช้คาเฟอีนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ขับขี่ควรทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อน อย่างแรกคือ ควรงดดื่มกาแฟ น้ำอัดลมชนิดน้ำดำ ชา โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือช็อกโกแลต ก่อนเดินทางอย่างน้อย 2-3 วัน เพราะอาหารเหล่านี้มีคาเฟอีน ซึ่งส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท
ส่วนในระหว่างขับรถ คาเฟอีนจะช่วยให้หายง่วงได้ถ้าผู้ขับขี่พักผ่อนมากพอก่อนเดินทาง โดยคนที่ไม่ได้ใช้เป็นประจำจะต้องรับคาเฟอีนประมาณ 200 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับกาแฟ 2 แก้วจึงจะได้ผล สำหรับคนที่ใช้บ่อยๆ อาจต้องเพิ่มปริมาณตามความเหมาะสม
ไม่เพียงแค่นั้น…อาหารบางอย่างยังช่วยปลุกให้สดชื่นหรือแก้ง่วงระหว่างขับรถได้ เช่น น้ำเปล่า จะช่วยให้ระดับออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น ร่างกายเราก็จะรู้สึกตื่นตัวได้ทันที, ดาร์กช็อกโกแลต ช็อกโกแลต หรือกาแฟ เพราะมีคาเฟอีนสูง, ผลไม้รสเปรี้ยว กระตุ้นประสาทของเราให้ตื่นและเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกาย
เท่านี้ผู้ขับขี่ก็น่าจะทราบกันแล้วว่า ภาวะหลับในเป็นยังไง เกิดจากสาเหตุอะไร และวิธีป้องกันไม่ให้เผลอวูบหลับระหว่างขับรถ ยังไงก็อย่าลืมนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันกันด้วยนะครับ เพื่อให้เดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างปลอดภัยและลดอุบัติเหตุร้ายแรงให้น้อยลงครับ