“เรียนสูง” มาแค่ไหน ไม่ใช่ประเด็น
“ทำงาน” ให้เป็น คือประเด็นที่สำคัญ
?
ประเด็นแรก ของเรื่องนี้คือ เรื่องการเรียน
ถ้าจะว่าไปว่า “การศึกษาบ้านเราเหมือนกับว่าเป็นเรื่องของคนที่เรียนเพียงคนเดียว” เรียนดีเรียนแย่ก็อยู่ที่คนนั้นเองทั้งสิ้นทั้งหมด พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พี่น้อง ช่วยอะไรไม่ได้เลย สถาบันที่เรียนบางครั้งจบมาก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการทำงานของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับประสบการณ์และฝีมือในการทำงานและใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่นล้วน
ถ้าผลการเรียนออกมาดี ก็มีแนวโน้มว่า “น่าจะทำงานเก่งนนะ” เพราะกว่าจะจบมันต้องฝึกต้องฝนกันมากมายหลายกระบวนท่า แต่อย่างไรก็ตาม การฝึกฝนในช่วงระหว่างที่กำลังเรียนอยู่นั้น มันฝึกฝนอยู่ในกรอบของสมมติฐานที่ว่า “ฝึกเพื่อเรียนรู้ ถ้าถูกก็แล้วไป แต่ถ้าผิดก็กลับไปแก้ไขใหม่จนกว่าจะดีขึ้น” ซึ่งเป็นหลักง่ายๆ ของชีวิตนักศึกษา เชื่อว่าเคยผ่านกันมาทุกคน
สังเกตุดีๆ จะเห็นว่าในช่วงที่เรากำลังศึกษาอยู่นั้นหากเรา คิดผิด ทำผิด มันจะถูกลงโทษเพียงอย่างเดียวคือ เกรดหรือผลการเรียนจะออกมาไม่ดีหรือไม่ก็ติดเอฟ(F) ต้องไปลงทะเบียนเรียนใหม่กับเด็กรุ่นน้อง บางคนก็ไม่ถือเพราะหน้าด้าน บางคนเครียดมากเพราะอายกับการที่จะต้องไปเรียนกับรุ่นน้อง
ชีวิตวัยเรียนมีเรื่องให้เครียดปวดสมองไม่กี่เรื่อง นอกนั้นเป็นเรื่องสนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้เสียเป็นส่วนใหญ่ บางคนถึงกับไม่อยากจบออกมา เพราะยังอยากสนุกกับชีวิตในช่วงวัยนี้ต่อไปอีก แต่เมื่อถึงเวลาจบก็ต้องจบ อยู่ที่ว่าตอนจบของช่วงวัย จะจบออกมาดี หรือ จบออกมาแบบไม่ได้เรื่อง ซึ่งจะถูกนำไปพิสูจน์ต่อไป ในช่วงชีวิตวัยทำงาน
ประเด็นที่สอง คือ เรื่องการทำงาน
“การทำงานคือการพิสูจน์คุณภาพของคนว่าคนคนนั้นมีคุณภาพแค่ไหน” คุณภาพมากแค่ไหนวัดกันอย่างไร ง่ายๆ เลย ก็แค่วัดว่า ผลของงานที่ทำสัมฤทธิ์ออกมา มันเกิดคุณค่าหรือประโยชน์แก่คนอื่นมากแค่ไหน นั่นแหละคือคุณภาพ
จะเห็นว่าตอนเรียนเราไม่วัดผลการเรียนแบบนี้เลย การเรียนเป็นอะไรที่ง่ายสอบไม่ผ่านก็ลงเรียนใหม่ แต่ถ้าทำงานแล้วทำไม่ผ่าน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เสียเวลา เสียเงิน เสียใจ ถูกเจ้านายด่า เพื่อนร่วมงานขาดความเชื่อถือ ทั้งหมดนี้คือโลกของความจริงโลกที่แสนเจ็บปวดเมื่อทำผิดพลาดขึ้นมา
ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นโลกที่หอมหวานเมื่อเราทำงานสำเร็จขึ้นมา เกิดคุณค่าต่อผู้อื่นในวงกว้าง สังเกตุดีๆ ชีวิตในช่วงกำลังเรียนคือช่วง “อยู่ในโลกของจินตนาการ” แต่ชีวิตในช่วงทำงานมันคือ “โลกแห่งความจริง” คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งหลายเขาเชื่อว่า ถึงแม้เรียนจบจากช่วงชีวิตวัยเรียนแล้วเขาหาได้คิดว่าเขาต้องหยุดเรียนรู้อยู่แค่นั้นไม่ แต่กลับกลายเป็นว่าพอจบการเรียนในช่วงวัยเรียน จะต้องศึกษาแบบจริงๆ จังๆ ต่อในระดับที่สูงขึ้นไปอีกคือระดับมหาวิทยาลัยชีวิต ซึ่งจะต้องเรียนรู้ทุกลมหายใจ เพราะมันจะมีผล ได้-เสีย
ในทุกครั้งที่ลงมือทำอะไรก็ตาม และจะต้องศึกษาไปจนวันตายในมหาวิทยาลัยชีวิตแห่งนี้ ส่วนคนที่ชีวิตล้มเหลวก็มีสาเหตุเพียงสาเหตุเดียวก็คือ ไม่เรียนรู้ที่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง มันก็ผิดซ้ำๆ ซากๆ จนหาคุณภาพไม่ได้และสิ้นความน่าเชื่อถือในที่สุด และสุดท้ายก็คือล้มเหลว