เริ่มเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งตรงกับประเพณีลอยกระทง สำหรับวันลอยกระทงในปี 2561 ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 22 พฤศจิกายน ประเทศไทยเราก็จะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ให้ประชาชนได้ขอขมาต่อพระแม่คงคา และเป็นการแสดงการขอบคุณน้ำ เพราะมนุษย์เราอยู่ได้เพราะน้ำ นั่นเองานะที่เป็นผู้ให้ชีวิตเรา
ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่ามีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนามีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา
นอกจากนี้ ตามเความเชื่อของชาวไทย นิยมตัดเล็บ ตัดผม ใส่กระทงลงไปด้วย รวมถึงมีการนำเหรียญใส่ในกระทง เชื่อว่าจะทำให้ร่ำรวย โชคลาภ
สำหรับการตัดเล็บ ตัดผม เศษอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และเศษเสื้อผ้าที่ใช้แล้วใส่ลงไปในกระทงแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้เคราะห์ร้ายหายไป ให้ชีวิตมีแต่ความสุขตลอดไป แล้วลอยไปโดยเชื่อว่าเป็นการตัดเคราะห์ตัดโศกสะเดาะให้พ้นเคราะห์พ้นโศกให้หลุดลอยไปในกระทง ส่วนการนำเศษสตางค์หรือธนบัตรใส่ลงไปในกระทง เพราะเชื่อว่าการที่ทำเช่นนั้นจะเป็นการนำมาซึ่งความมั่งคั่ง มีทรัพย์สินเงินทองไหลมาเทมาตลอดทั้งปี
ส่วนตำนานของวันลอยกระทงของไทยเรา ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป