คนเราทำบุญเยอะๆ ก็หวังว่าจะได้บุญ หมายถึงว่า หวังว่าชีวิตจะดีขึ้น ภาวนาเยอะๆ ก็หวังว่าจะได้ผลดีจากการภาวนา เช่นหวังว่าจิตใจจะดีขึ้น ทุกข์จะน้อยลง แต่ยามเมื่อต้องเผชิญอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาอย่างผิดปกติ เหมือนทะเลที่จู่ๆ ก็เกิดพายุใหญ่ในเวลาที่ไม่ใช่ฤดูมรสุม มันก็ผิดความคาดหวัง เมื่อโดนทุกข์ซ้อนๆ กัน แบบไม่ได้คาดหวัง กำลังใจก็ย่อมสั่นคลอน ความลังเลสงสัยย่อมเกิดตามมาเป็นธรรมดา
ชาวพุทธจำนวนมากทำกิจกรรมทางศาสนาหลายอย่างแล้วคิดว่า การกระทำดังกล่าวได้บุญแต่ความจริงแล้วบางอย่างก็ได้บุญน้อยมากบางอย่างไม่ได้บุญเลย
เหตุการณ์ดังกล่าวมักจะทำให้ความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาของบางคนสั่นคลอน แล้วกลายเป็นคนหลงผิด ผมจึงขอรวบรวมเหตุผลส่วนหนึ่งมาอธิบายว่า เพราะเหตุใดการทำบุญจึงไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นดังนี้
1. ทำบาปเอาไว้มาก
แต่ยังทำบุญน้อย ลองคำนวณดูคร่าวๆ ว่าเราเริ่มศึกษาธรรมะตอนอายุเท่าไร แล้วลองเปรียบเทียบดูว่า จำนวนปีที่เราทำบาปกับจำนวนปีที่เราทำบุญแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าผู้อ่านส่วนใหญ่ศึกษาธรรมะอย่างจริงจังในช่วงอายุ30 กว่าๆ ต่อมาได้หยุดทำบาปแล้วหันมาทำบุญในช่วงไม่เกิน 5 ปีหลัง ก็แปลว่าก่อนหน้านั้นเราทำบาปมาประมาณ 30 ปีและเริ่มทำบุญจริงจังมาประมาณ 5 ปี จะเห็นได้ว่า ปริมาณการทำบาปในชาตินี้ยังมากกว่าการทำบุญ ฉะนั้น ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชีวิตอาจจะยังไม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
2. บุญก็ทำ บาปก็ไม่เลิก
คนจำนวนไม่น้อยศึกษาธรรมะ แต่เข้าถึงหลักธรรมเพียงด้านเดียวคือการทำบุญ โดยไม่ได้สนใจเลิกทำบาป จึงทำบุญไปด้วย ทำบาปไปด้วยชีวิตโดยรวมก็จะมีสภาพลุ่มๆ ดอนๆเดี๋ยวชีวิตก็ดีเพราะผลบุญที่ทำ เดี๋ยวชีวิตก็แย่เพราะผลของบาปที่ไม่ได้ลดละลงเลย
3. เข้าใจผิด คิดว่าทำบุญอยู่
ชาวพุทธจำนวนมากทำกิจกรรมทางศาสนาหลายอย่าง แล้วคิดว่าการกระทำดังกล่าวได้บุญ แต่ความจริงแล้ว บางอย่างก็ได้บุญน้อยมาก บางอย่างไม่ได้บุญเลย หนำซ้ำกิจกรรมบางอย่างก็ได้บาป ทำให้ไม่มีบุญมาส่งเสริมให้ชีวิตดีขึ้น เช่น การเข้าวัดเฉยๆ การกราบพระพุทธรูปเพื่อขอพรการสวดมนต์เพื่อให้ร่ำรวย การแก้กรรมการรดน้ำมนต์ การไปร่วมพิธีกรรมต่างๆเป็นต้น
4. ทำบุญมาก แต่ได้บุญน้อย
หลายคนยังคงทำมาหากินในอาชีพที่ผิดศีล เงินที่หามาได้จึงเป็นเงินที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งเงินก้อนนี้หากเอาไปทำบุญก็จะได้บุญน้อยมาก จึงไม่มีผลบุญที่จะมาช่วยให้ชีวิตดีขึ้น
5. เข้าใจผิด
คิดว่าละบาปแล้วหลายคนมีความเข้าใจเรื่องการทำบาปไม่ครบถ้วน จึงคิดว่าการกระทำของตนไม่บาป และยังคงทำกรรมนั้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดทำให้ยังคงได้บาปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดเช่นกัน ส่งผลให้มีบาปที่รอแสดงผลเป็นจำนวนมาก เช่น การใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ยังไม่ได้สู่ขอ การพูดให้คนทะเลาะกัน การพูดจาเสียดแทงจิตใจ เป็นต้น
6. ทำบุญไม่ตรงกับผลที่ต้องการ
ชาวพุทธจำนวนมากมีความต้องการให้ชีวิตบางด้านดีขึ้น แต่เนื่องจากขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมที่ถูกต้อง จึงทำบุญไม่ตรงกับความต้องการ เช่น คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับความรัก ความจริงแล้วควรจะรักษาศีลอุโบสถ เลิกพูดโกหก พูดส่อเสียด พูดหยาบ แต่ก็กลับไปทำสังฆทานที่จะช่วยเรื่องเงินทอง คนที่มีปัญหาเรื่องการทำงานความจริงแล้วควรทำบุญถวายสังฆทาน แต่กลับไปปล่อยปลา ไถ่ชีวิตสัตว์ ซึ่งจะช่วยให้อายุยืนและสุขภาพดี คนป่วยที่ควรจะทำบุญด้วยยาหรือปล่อยปลาที่กำลังจะถูกฆ่า แต่กลับไปซื้อปลาที่เขาเตรียมจับไว้แทน ซึ่งบุญที่ได้จะช่วยเรื่องอิสรภาพมากกว่า
7. บุญยังไม่แสดงผล
คนจำนวนหนึ่งมีความเข้าใจในกฎแห่งกรรมอย่างถูกต้อง และได้เริ่มต้นทำบุญละบาปมาต่อเนื่องยาวนานนับสิบๆ ปี แต่ชีวิตก็ยังไม่ดีขึ้น ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะบุญที่ทำยังไม่สบช่องแสดงผล เพราะในชาติที่แล้ว และชาติก่อนหน้านั้น อาจจะเคยทำบาปเอาไว้มากบาปที่เคยทำจึงยังตามแสดงผลให้เราพบเจอความทุกข์ไม่หยุด ชีวิตจึงยังไม่ดีขึ้น
ตัวอย่างเหตุผลดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านทุกคนได้ลองหันกลับมาพิจารณาว่า ตัวเราเองเข้าใจเรื่องบาปบุญอย่างถูกต้องแค่ไหน และแท้จริงแล้วตัวเราทำบุญหรือทำบาปมากกว่ากัน ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะเห็นความจริงว่า เราทำดีมากพอหรือยัง (ส่วนใหญ่มักจะยังทำบุญไม่มากพอ และยังทำบาปควบคู่ไปด้วย)
ในขณะเดียวกัน ก็หวังว่าความเข้าใจดังกล่าวจะทำให้ทุกๆ คนสามารถรักษาความมุ่งมั่นในการทำบุญละบาปต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะถึงอย่างไรเส้นทางนี้ก็เป็นเส้นทางที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ และเป็นเส้นทางที่จะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไม่ต้องสงสัย
เรื่องจาก : นิตยสาร Secret คอลัมน์ You Are What You Do , goodlifeupdate
ภาพ : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และ วัดบวรนิเวศวิหาร