ยอมรับมั้ยว่าคนไทยน่ะชาตินิยม? อะไรที่เป็นไทยสไตล์เราจะภูมิใจมาก แต่ถ้าเป็นต่างชาติเมื่อไหร่ก็เบะปากคว่ำยันคิ้ว ซึ่งในบางเรื่องของคนไทย ถึงมันจะไม่ดี ก็ยังมีคนไทยอยู่ไม่น้อยที่ทำอยู่จนกลายเป็นกิจวัตร เป็นนิสัยที่แก้ไม่หาย Gangbeauty ขอบอกเลยนะว่านิสัยไทยสไตล์แบบนี้ควรเลิกทำได้แล้ว เพราะมันไม่ดี ไม่โอเค แถมดูแย่ในสายตาเพื่อนร่วมโลกด้วยล่ะ!
1. ไม่รักษาเวลา
อย่าหาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ยอมรับกันมาเถอะว่าไม่ค่อยจะใส่ใจเรื่องการตรงต่อเวลาเท่าไหร่หรอก ถ้ามีการนัดหมายกันเกิดขึ้น แล้ววันนั้นเกิดจะอินดี้ไม่อยากไปขึ้นมา ไทยสไตล์ก็แค่ผิดนัด โดยการหาเหตุผลล้านแปดพันเก้ามาลบล้าง อ้างว่าติดนั่นติดนี่บ้างล่ะ หนักหน่อยก็เล่นยันอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ซึ่งมันไม่ดีเลยนะเธอ ถ้าเธอคิดว่ามันไม่จริง ลองนึกภาพตัวเองตื่นไปทำงานดู อยากจะรู้จังเลยว่าถ้าบริษัทไม่หักเงินเวลามาสายเธอจะรีบร้อนไปให้ตรงเวลากันมั้ย!
2. ไม่กล้าแสดงออก
ข้อนี้ดูเป็นเรื่องดีในสายตาของคนไทยด้วยกัน เพราะมันเป็นข้อปฏิบัติที่ดูนอบน้อมถ่อมตน เจียมตัวเจียมตน ก่อให้เกิดเป็นนิสัยที่ขี้เกรงใจคนอื่น แคร์คนอื่นมากกว่าแคร์ตัวเอง ต่อให้มีเรื่องที่คิดว่าเอ้ย เหตุผลของฉันมันเลิศนะ แต่ก็มักจะต้องเก็บเอาไว้ในขอบเขตของการเกรงใจอยู่วันยังค่ำ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนา เพราะไม่มีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายแง่มุมนี่แหละ ลองมีใครสักคนมีความคิดเห็นแตกต่างกับเจ้านายแล้วระเบิดมันออกมา เธอจะกล้าสนับสนุนความเห็นนั้นมั้ย ก็ไม่ เกรงใจเจ้านายก็ได้แต่เออออไปตามเรื่องตามราวเหมือนเดิม!
3. ล้อสังขาร
ความสนุกสนานของคนไทย บางทีก็ไร้ขอบเขต เรามองเห็นคำว่า “อีอ้วน” “ไอ้เตี้ย” “น้องไม้กระดาน” “ไอ้ดำดอทคอม” เป็นเรื่องสนุกกันไปแล้วในปัจจุบัน ซึ่งทำในคนที่สนิทกันมันก็พอเข้าใจ แต่พอทำกับเพื่อนสนิทบ่อยเข้าก็กลายเป็นนิสัย ทีนี้แหละ เจอใครก็พูดไปหมด จำประเด็นดราม่าในโซเชี่ยลที่ด่าเด็กปั๊มว่าขี้เหร่ได้มั้ย นั่นแหละตัวอย่างของความคะนองปากของคนไทยล่ะ โซแบดมากค่ะ!
4. มีกฎไว้แหก
เป็นอะไรกันไม่รู้คนไทย กฎอะไรเป็นต้องแหกกันไปหมด หรือถ้าผิดกฎ ก็มักจะมี “ศาลเตี้ย” คอยอะลุ่มอล่วย ประนีประนอมให้รอดพ้นจากข้อผิดไปได้เสมอ ส่วนใหญ่บ้านเราก็ผิดกันเยอะไอ้เรื่องการจราจรนี่แหละ จอดในที่ห้ามจอดบ้าง ไม่สวมหมวกกันน็อคบ้าง พอโดนข้อหาก็หงายการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ทราบกฎหมาย หนักสุดก็ถามหาพ่อตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองลูกใครขึ้นมาเฉยๆ กฎน่ะมันไม่ได้ใช้เวลา 3 วินาทีในการตั้ง มันใช้เวลาในการประชุมแล้วประชุมอีกถึงได้ตั้งเป็นกฎขึ้นมา มีไว้ให้เป็นระเบียบ ไม่ใช่แหกระเบียบแบบนี้
5. อ่านหนังสือ 8 บรรทัดต่อปี
ก่อนอื่นขอยินดีด้วย ถ้าเธออ่านมาจนถึงข้อนี้ แปลว่าเธออ่านหนังสือเกิน 8 บรรทัดต่อปีเรียบร้อย แต่จริงๆก็ไม่พูดไม่ได้นะ คนไทยอ่านหนังสือน้อยกันไปจริงๆ ถ้าเธอไปเที่ยวต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์แล้วไปขึ้นรถไฟฟ้า จะไม่ค่อยเห็นคนเล่นโทรศัพท์กันนะ ส่วนใหญ่ ไม่หลับก็อ่านหนังสือ ซึ่งผิดกับบีทีเอสประเทศไทย มองไปทางไหนก็ก้มคอมองจอกันให้มันระเบิด พิสูจน์ได้จากเรื่องง่ายๆเลยว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยไป เช่นการโพสถามข้อมูลตามหน้าเพจ ทั้งๆที่เจ้าของเพจก็แจ้งไปครบถ้วนหมดแล้ว แต่ทำไมถึงยังมีคำถามเกิดขึ้นมาได้ อันนี้ก็ไม่มีใครเข้าใจเหมือนกันจ้ะ!
เรื่องแบบนี้ต้องยอมรับนะ มันควรปรับกันจริงๆทุกข้อเลย!