“ไวรัสลงกระเพาะ” โรคที่มีอาการคล้ายหวัด แต่อันตรายกว่ามาก หากไม่รีบรักษาให้หายโดยเร็ว อาจอันตรายจนถึงชีวิตได้
หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “ไวรัสลงกระเพาะ” กันมาบ้าง อาจจะคิดว่าโรคนี้เกี่ยวกับอาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือระบบทางเดินอาหารจนทำให้ป่วย แต่จริงๆ แล้ว อาการไวรัสลงกระเพาะ มีลักษณะคล้ายหวัดมากกว่า แต่อันตรายกว่าหวัดปกติเยอะ
“ไวรัสลงกระเพาะ” คืออะไร?
อาการของไวรัสลงกระเพาะอาหาร เป็นภาวะที่กระเพาะอาหาร (อาจรวมไปถึงลำไส้) ติดเชื้อไวรัส (อาจเป็นเชื้อไวรัสโรต้า หรือเชื้อไวรัสชนิดอื่นก็ได้) โดยอาจมาจากอาหาร และน้ำดื่มที่รับประทานเข้าไปมีเชื้อไวรัสปนเปื้อน สัมผัส หรือจับต้องกับสิ่งของที่มีการปนเปื้อนอุจจาระ น้ำลาย อาเจียนของผู้ป่วย หรืออยู่ใกล้คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคนี้เองโดยตรง
สาเหตุของอาการไวรัสลงกระเพาะ
– ทานอาหาร ดื่มน้ำ ที่มีไวรัสปนเปื้อน
– ทานอาหารจากจาน ชาม ช้อนส้อมที่ไม่สะอาดพอ
– สัมผัสกับสิ่งของรอบตัวที่มีเชื้อไวรัส
– คลุกคลีกับผู้ป่วย
อาการของไวรัสลงกระเพาะ
– ปวดท้อง
– ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ
– คลื่นไส้ อาเจียน
– มีไข้ หนาวสั่น
– ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
ไวรัสลงกระเพาะ อันตรายที่ควรรีบรักษา
โดยปกติแล้ว ในร่างกายของเรามีกระบวนการที่จะกำจัดเชื้อไวรัสออกไปได้เองจากภูมิต้านทานโรคที่เรามีอยู่ แต่ในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ ในคนชรา หรือในเด็กเล็ก อาจอันตรายกว่าเดิม เพราะอาการของโรคที่เกิดขึ้นอาจรุนแรง จนช็อก หรือเสียชีวิตได้
ไวรัสลงกระเพาะในเด็ก อันตรายกว่าในวัยอื่น
เด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 3 ขวบมีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นไวรัสลงกระเพาะได้ เพราะจะยังมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าเด็กที่โตแล้ว และยังไม่ระมัดระวังในการหยิบจับอาหารเข้าปากเหมือนผู้ใหญ่ จึงทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย และอาจเสี่ยงมีอาการหนักกว่าผู้ใหญ่ด้วย
โดยอาการไวรัสลงกระเพาะที่สังเกตได้จากเด็กเล็ก คือ
– อาเจียนนานหลายชั่วโมง
– ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง
– อุจจาระเหลว หรือมีเลือดปน
– กระหม่อมบุ๋ม ตาโหล
– ปากแห้ง หรือร้องไห้ไม่มีน้ำตา
– นอนมาก ซึมลง ไม่ตอบสนอง หรือกระสับกระส่ายผิดปกติ
การรักษาอาการไวรัสลงกระเพาะ
เนื่องด้วยโรคนี้ไม่มีวิธีรักษาให้หายได้โดยตรง สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นการรักษาไปตามอาการของโรคแบบประคับประคอง (คล้ายกับการรักษาโรคหวัด) เมื่อไรที่ร่างกายค่อยๆ แข็งแรง ก็จะต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้เอง โดยผู้ป่วยสามารถกลับบ้านไปดูแลตัวเองได้ ดังนี้
1. ดื่มน้ำให้มากๆ โดยเฉพาะหลังอาเจียน หรือหลังถ่าย
2. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ เพราะอาจทำให้ถ่ายท้องหนักกว่าเดิม
3. รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด
4. เด็กเล็กสามารถดื่มน้ำดื่มนมได้ตามปกติ แต่หากถ่ายท้องมากๆ ควรหลีกเลี่ยงนมที่ไม่มีแลคโตส เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ หรือนมสูตรไม่มีแลคโตส
5. สามารถดื่มน้ำเกลือเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำจากการถ่ายได้
6. ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ควรเข้ารับคำวินิจฉัย และการดูแลรักษาตัวเองจากแพทย์ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง
7. ระมัดระวังในการดูแลผู้ป่วย อย่าให้ผู้ดูแลต้องติดเชื้อไวรัสไปด้วย
การป้องกันอาการไวรัสลงกระเพาะ
1. ระมัดระวังในการสัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้ สิ่งของสาธารณะ ไม่หยิบจับอาหารเข้าปากโดยไม่ได้ล้างมือ
2. ล้างมือทุกครั้งที่กลับมาจากข้างนอก ล้างทั้งฝ่ามือ นิ้วมือ เล็บ และใช้เวลาอย่างน้อย 20 วินาทีก่อนล้างด้วยน้ำเปล่า
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกเต็มที่
4. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำ หรือใช้น้ำที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเวลาเดินทาง หากสะดวก ควรพกน้ำไปเอง หากต้องไปในที่ที่มีความเสี่ยงว่าสุขอนามัยจะไม่ดี
5. หมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์ทานอาหาร โต๊ะ เก้าอี้ อย่างสม่ำเสมอ
6. ทำความสะอาดห้องน้ำ โถสุขภัณฑ์ อ่างล่างหน้า ในห้องน้ำอยู่เสมอ