แฟชั่นทันสมัยเป็นสิ่งที่ผู้หญิงไม่มีทางปล่อยให้ตัวเองตกเทรนด์ เสื้อผ้าอะไรที่มาแรง รูปแบบการแต่งตัวแบบไหนที่โดดเด่น ไม่มีทางที่หญิงสาวจะพลาดไปได้สักนัด ซึ่งภายใต้ความสวยความงามเหล่านี้ Gangbeauty บอกเลยว่าเบื้องหลังมันยังมีเรื่องอีกมากที่เหล่าผู้ผลิตต่างๆ ไม่อยากให้ผู้บริโภคอย่างเรารู้กันหรอก!
1. รู้สึกมั้ยว่าตัวเองเริ่มจะตามเทรนด์แฟชั่นไม่ทัน แม้จะเพิ่งซื้อเสื้อผ้ามาใหม่ แม้จะเพิ่งใส่ไปแค่ครั้งหรือสองครั้ง ทว่าหันมองอีกที แฟชั่นก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว นั่นก็เพราะความจริงนั้น แฟชั่นมักจะมีคอลเลคชั่นใหม่ถี่มาก กล่าวคือเมื่อก่อนอาจจะมีการปล่อยคอลเลคชั่นเป็นฤดูกาล แต่ตั้งแต่ปี 2014 เหล่าผู้ผลิตก็ได้มีแนวคิดที่จะกระตุ้นให้ผู้คนซื้อเสื้อผ้ากันเยอะขึ้นด้วยการออกคอลเลคชั่นใหม่บ่อยกว่าเดิม จากปีละแค่ 2 ครั้ง ตอนนี้กลายเป็น 2 อาทิตย์ครั้งบ้าง หรือบางร้านค้า บางแบรนด์ดังก็ถึงกับจัดส่งสไตล์ใหม่แทบจะทุกวันเลยทีเดียว
pxhere.com
2. หลายคนรู้จักสินค้าเอ๊าท์เลท และชอบมากที่จะเลือกซื้อสินค้าแบรนด์ต่างๆ จากห้างร้านเอ๊าท์เลท เพราะคิดว่ามันเป็นการซื้อแบรนด์ดังในราคาถูก และคิดว่ามันเป็นเสื้อผ้าที่ผิดพลาดเล็กน้อยจากสายการผลิตเดียวกันกับเสื้อผ้าในช็อป ก็เลยถูกคัดออกมาขายในราคาที่ถูกกว่า แต่ความจริงคือมันเป็นสินค้าที่แยกกันผลิตเลยต่างหาก โดยเบื้องหลังแล้ว ผู้ค้าเสื้อผ้าเอ๊าท์เลท มักจะมีการตกลงกับดีไซเนอร์เจ้าของคอลเลคชั่นว่าจะขออนุญาตนำป้ายแบรนด์ไปติดบนเสื้อผ้าเหล่านี้ ทั้งที่เป็นเสื้อผ้าผลิตมาคนละเกรดอย่างสิ้นเชิง สังเกตดีๆ จะเห็นว่าคุณภาพการผลิตนั้นแตกต่างจากของที่วางขายในร้านมากเลยนะ ไม่เหมือนเลยล่ะ
pixabay.com
3. จากข้อมูลของศูนย์สุขภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่ายังมีหลายแบรนด์มากๆ ที่จำหน่ายสินค้าแฟชั่นอันมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่เกินกว่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ เข็มขัด หรือรองเท้า ซึ่งสารตะกั่วนี้ แม้ไม่ได้รับประทานเข้าสู่ร่างกาย แต่ก็มีอันตรายอยู่มาก เช่น ส่งผลต่อภาวะมีบุตรยาก เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังเคยได้เปิดเผยด้วยว่าไม่มีสารตะกั่วใด ที่ไม่อันตรายต่อมนุษย์ แม้จะมีปริมาณน้อยมากแต่ก็ถือเป็นสารพิษอันตรายอยู่ดี
pixabay.com
4. หลายคนยังยึดติดว่าเสื้อผ้าราคาแพง แบรนด์ดังขึ้นห้าง ดูท่าทางน่าไว้ใจ เป็นสินค้าที่คงทน ซื้อใส่แล้วคุ้มค่า แต่รู้หรือไม่ว่าในวงการธุรกิจแฟชั่นที่เรียกว่า “Fast-fashion” แบบแบรนด์เหล่านี้ มักจะมีแนวคิดที่ว่า ต้องพยายามทำให้เนื้อผ้าเปลี่ยนไปตั้งแต่ครั้งแรกที่ซักให้ได้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนออกมาซื้อเสื้อผ้ากันใหม่ เหตุการณ์นี้มีหลักฐานยืนยันชัดเจน เป็นสถิติการทิ้งเสื้อผ้าของคนอเมริกันที่มากกว่า 68 ปอนด์ต่อปี นี่ยังไม่รวมเสื้อผ้าที่ขายต่อมือสอง และเสื้อผ้าที่นำไปบริจาคแล้วด้วยนะ
pxhere.com
5. เสื้อผ้าแฟชั่นวิ้งวับด้วยเลื่อมปัก แม้จะมีเครื่องจักรที่สามารถผลิตลายปักเลื่อมสุดเนี้ยบเหมือนทำมือได้ แต่ก็แพงมากเกินกว่าที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะกล้าลงทุน โดยเฉพาะสำหรับวงการแฟชั่นแบบ “Fast-fashion” แล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย จากสถิติที่เก็บข้อมูล พบว่า 20-60% ของการผลิตเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มักมีการใช้แรงงานไม่ประจำตามบ้านเป็นผู้ลงมือผลิต ยิ่งถ้าเป็นแรงงานในประเทศด้อยพัฒนาแล้ว เสื้อผ้าเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมักจะมาจากสองมือน้อยๆ ของครอบครัวรวมถึงเด็กตาดำๆ ที่อาศัยแสงธรรมชาติในการปักเสื้อผ้านี้ให้เสร็จทันตามกำหนด เพื่อแลกกับเงินอันน้อยนิดเท่านั้นเอง
ลองเปิดใจให้กว้าง ไม่ยึดติดกับแบรนด์ดูบ้างก็ดีนะ!