เถียงกันใหญ่ น้ำปลาพริก หรือ พริกน้ำปลา โซเชียลไขปริศนาคาใจ ควรใช้แบบไหนถึงจะถูกตามหลักราชบัณฑิตยสถาน พร้อมเปิดความหมายที่มาของ น้ำปลาพริก เพื่อความกระจ่าง เข้าใจตรงกันนะ
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 กรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @PanKatze ได้มีการแชร์คลิปของ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่พูดถึงการใช้คำว่า น้ำปลาพริก หรือ พริกน้ำปลา อันไหนคือคำที่ถูกต้อง โดยในคลิป พรรณิการ์ ชี้ว่า น้ำปลาพริก คือคำที่ถูกต้อง โดยให้เหตุผลว่า สารตั้งต้นคือน้ำปลา และสิ่งที่มีมากกว่าคือน้ำปลา มันจึงต้องเป็น น้ำปลาพริก
ส่วนใครที่เรียกว่า พริกน้ำปลา นั้น ตนมองว่า คนที่ใช้อาจโฟกัสที่พริกมากกว่าน้ำปลา แสดงว่าเวลาที่ตัก อาจจะตักเฉพาะพริก เลยเรียกว่า พริกน้ำปลา
จากคลิปดังกล่าว ทำให้ชาวเน็ตต่างสงสัยในการใช้คำทั้งสองมาก จนมีการเข้ามากดถูกใจและรีทวีตเป็นหมื่นๆ พร้อมเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้น ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @CHANGYIM ได้มาไขความคาใจของหลายๆ คน โดยระบุว่า เคยส่งอีเมลไปถามราชบัณฑิตเหมือนกัน และทางราชบัณฑิตส่งกลับมาให้แบบนี้ พร้อมแนบภาพเอกสารของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดยคุณพรทิพย์ เดชทิพย์ประภาพ นักวรรณศิลป์ชำนาญการ มีใจความว่า…
“พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ไม่ได้เก็บคำว่า น้ำปลาพริก และ พริกน้ำปลา ไว้ แต่เก็บคำว่า น้ำปลา และ พริก ไว้โดยมีความหมาย ดังนี้
น้ำปลา คือ น้ำสำหรับปรุงอาหารให้มีรสเค็ม ทำจากปลาเป็นต้นหมักจากเกลือ
พริก คือ ชื่อไม้ล้มลุกสกุล Capsicum วงศ์ Solanaceae ผลมีรสเผ็ด มีหลายชนิด เช่น พริกขี้หนู พริกหยวก พริกชี้ฟ้า เป็นต้น
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @CHANGYIM_
ทั้งนี้ หากพิจารณาความหมายของคำทั้งสองตามที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า น้ำปลาพริก และ พริกน้ำปลา ก็คืออาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำปลาและพริกทั้งคู่
อย่างไรก็ตาม ได้สอบถามความเห็นจาก ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล กรรมการวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้รับข้อมูลว่า น้ำปลาพริก คือคำที่ใช้มาแต่เดิม น้ำปลา เป็นคำหลัก ให้ความหมายว่า เค็ม
ส่วน พริก เป็นคำนามขยาย พริกช่วยเสริมรสเค็มให้เจือเผ็ด เวลาเติมรสอาหารด้วยน้ำปลาพริก อย่างเติมในข้าวผัด เพราะต้องการความเค็มนำ แต่ไม่ต้องการเค็มโดดๆ จึงใช้น้ำปลาพริก
นอกจากนี้ มีน้ำปลาพริกอีกแบบหนึ่ง ที่ใช้พริกป่นแทนพริกขี้หนู ก็เรียกว่า น้ำปลาพริกป่น ไม่มีผู้เรียกว่า พริกป่นน้ำปลา”