ใช้อะไรแทนถุงพลาสติกดี ? รวม 10 ไอเทมไว้พกไปซื้อของแทนถุงพลาสติก หลังห้างสรรพสินค้าและร้านค้าประกาศงดแจกถุงถาวร ใช้อะไรแทนได้บ้าง มาดูกันเลย
เมื่อห้างสรรพสินค้าและร้านค้าชั้นนำต่างๆ ประกาศร่วมมือกับภาครัฐ งดให้บริการถุงพลาสติกทั่วประเทศอย่างถาวร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก ปี พ.ศ. 2561-2573 [อ่านรายชื่อสถานที่งดแจกถุงเพิ่มเติมได้ที่ : 14 แคมเปญงดใช้ถุงพลาสติกจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าชั้นนำ เริ่มต้นง่ายๆ ลดขยะ ลดโลกร้อน] หลายคนก็คงเกิดคำถามขึ้นมาในหัวว่า ถ้าหากไม่ใช้ถุงพลาสติกแล้ว เราสามารถใช้อะไรแทนถุงพลาสติกได้บ้าง ? ฉะนั้นวันนี้เราก็เลยรวบรวมไอเดียของใช้ในบ้าน และของหาง่ายใกล้ตัวที่สามารถนำไปใส่ของช้อปปิ้งได้มาฝาก รับรองใช้ซ้ำก็ได้ ช่วยลดขยะก็ดี เอาเป็นว่าจะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยดีกว่าค่ะ
1. ถุงผ้า
ถุงผ้าถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของคนทุกเพศทุกวัย เพราะได้รับการรณรงค์อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังพกพาง่ายและใช้งานสะดวก ที่สำคัญเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นพลังงานหมุนเวียนตามธรรมชาติ เนื่องจากส่วนใหญ่ทำมาจากฝ้ายหรือใยสังเคราะห์ ซึ่งนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซักทำความสะอาดได้ ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ แถมยังนำไปรีไซเคิลใหม่ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม 99% ของฝ้ายหรือใยสังเคราะห์ผลิตมาจากวัตถุดิบบริสุทธิ์ ต้องใช้น้ำ ใช้ปุ๋ย และใช้สารกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้เจริญเติบโต จึงทำให้มีผลกระทบต่อธรรมชาติทางอ้อมด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือ เราต้องใช้ถุงผ้าแต่ละผืนให้นานและคุ้มค่าโดยการนำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อช่วยให้ถุงผ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจริงๆ ไม่เพียงเท่านั้น เพราะทุกวันนี้มีถุงผ้าที่ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิลเพียบ ฉะนั้นถ้าหากใครอยากรักษ์โลก 100% ละก็ ให้เช็กที่มาที่ไปของถุงผ้าให้ชัวร์ แล้วเลือกใช้ที่ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิลแทนวัตถุดิบบริสุทธิ์จะดีที่สุดค่ะ
2. ถุงกระสอบ
นอกเหนือจากถุงผ้าแล้ว ถุงกระสอบหรือถุงปอกระเจาก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีไม่น้อย เพราะผลิตมาจากเส้นใยพืช ทำให้ล้างทำความสะอาดได้ ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และเป็นพลังงานหมุนเวียนตามธรรมชาติเหมือนกันกับถุงผ้าทั่วไป ทว่าที่พิเศษยิ่งไปกว่า คือ ถุงกระสอบหรือถุงปอกระเจาแข็งแรงและทนทานมากกว่า อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเก็บกับคาร์บอนด้วย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งไอเทมที่น่าสนใจทีเดียว แถมถ้าหากเสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งานแล้ว เพียงแค่นำไปใส่ไว้ในกองปุ๋ย ก็จะย่อยสลายเองแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเลยล่ะ
3. ถุงกระดาษ
หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าถุงพลาสติกดีกว่าถุงกระดาษ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วถุงกระดาษสามารถใช้ซ้ำได้ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แถมยังย่อยสลายทางชีวภาพได้ 100% แตกต่างจากถุงพลาสติกที่ผลิตมาจากน้ำมันหลายล้านบาร์เรลต่อปี แถมยังย่อยสลายทางชีวภาพไม่ได้ จนทำให้เป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม ยิ่งกว่าไปนั้นถุงกระดาษหลายชนิดยังทนต่อแรงกดและน้ำหนักมากกว่าถุงพลาสติกอีกต่างหาก ฉะนั้นถ้ามีเป็นไปได้ขอแนะนำให้เลือกใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกจะดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ถุงกระดาษจะนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แต่ก็เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ฉะนั้นถ้าหากใครอยากลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ ควรเลือกใช้ถุงกระดาษที่ทำมาจากกระดาษที่รีไซเคิลด้วยหมึกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะดีที่สุด
4. กระเป๋าจักรยาน
สำหรับนักปั่นจักรยานทั้งหลาย ไม่ต้องไปมองหาภาชนะหรือผลิตภัณฑ์ที่ไหนไกล เพราะกระเป๋าจักรยานที่ติดอยู่บนเบาะหลังจักรยานสามารถใช้แทนกันได้อย่างคุ้มค่า หรือถ้าหากใครไม่มีและไม่ได้ซื้อของบ่อย จะนำกระเป๋าหรือกล่องเปล่าที่มีในบ้านไปติดไว้แทนก็ได้ รับรองประหยัด คุ้มค่า รักษ์โลก และลดถุงพลาสติกได้เหมือนกัน ที่สำคัญการปั่นจักรยานยังเป็นทางเลือกลดโลกร้อนไปในตัว เรียกได้ว่างานนี้ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้คูณสองเลย
5. ถุงตาข่ายใส่ผลไม้
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าถุงตาข่ายที่ใส่ผักและผลไม้ เช่น ส้ม แอปเปิ้ล มะเขือเทศ และหัวหอม สามารถป้องกันผัก-ผลไม้จากสภาพอากาศที่เย็น แห้ง และชื้นได้ ฉะนั้นคราวหน้าคราวหลัง เวลาไปซื้อผัก-ผลไม้อย่าลืมพกถุงตาข่ายใส่ผลไม้ไปเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะและลดการใช้ถุงพลาสติกแล้ว ยังช่วยถนอมผักและผลไม้ไปในตัวอีกด้วย
6. กระเป๋าเป้
แม้ว่ากระเป๋าเป้จะไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะนำมาใช้แทนถุงพลาสติก เพราะถ้าหากคุณมีกระเป๋าเป้อยู่ที่บ้านอยู่แล้ว ก็สามารถนำไปใช้ใส่ของต่างๆ ได้มากมายตามสะดวก ส่วนสำหรับคนที่กลัวจะสกปรก ก็สามารถหาผ้ามารองไว้ก่อนได้ รับรองนอกจากจะช่วยให้จุของได้เยอะจุใจและลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกแล้ว ยังทำให้มือคุณว่างไปทำอะไรได้อีกมากมายเลยทีเดียว ฮั่นแน่ แต่ถ้าหากใครไม่มีกระเป๋าเป้เป็นของตัวเองละก็ ไม่ต้องลำบากไปหาซื้อนะคะ เพราะสามารถใช้อย่างอื่นแทนได้ แถมดูท่าจะไม่คุ้มกันเท่าไรด้วย
7. กระเป๋าตะกร้าหรือกระเป๋าสาน
ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะบอกว่ากระเป๋าตะกร้าหรือกระเป๋าสานทั้งเก่าและเชย แต่ในช่วงที่เทรนด์วินเทจ เทรนด์คลาสสิกกำลังกลับมาแบบนี้ คงเปลี่ยนใจแล้วบอกว่ามันทั้งเก๋และเท่มากกันเป็นแถวๆ ทว่าที่สำคัญที่สุด คือ มันดีกว่าถุงพลาสติกเพราะนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้งจนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน อีกทั้งยังกว้างขวาง ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ใส่ของได้สบาย มองเห็นข้างในได้ง่าย แถมยังพกพาสะดวกด้วย บอกเลยใครกำลังมองหาไอเทมเจ๋งๆ ไว้ใช้แทนถุงพลาสติกอยู่ ห้ามพลาดกระเป๋าตะกร้าหรือกระเป๋าสานเด็ดขาด
8. กระเป๋าถักตาข่าย
กระเป๋าถักตาข่ายเป็นที่นิยมอย่างมากในแถบยุโรป ผลิตมาจากฝ้ายจึงมีคุณสมบัติทั้งข้อดีและข้อเสียเหมือนกับถุงผ้าเป๊ะ จะแตกต่างกันก็ตรงที่สวยงาม เก๋ไก๋ และมีสไตล์มากกว่า ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากเป็นตาข่ายจึงทำให้ใช้วัสดุในการผลิตน้อยกว่า แถมถ้าหากไม่ใช้งานก็สามารถพับเก็บได้เล็กกว่าถุงผ้าทั่วไปด้วย แต่ถึงอย่างไรก็มีจุดด้อยอยู่บ้างเหมือนกัน คือ จะไม่สามารถใช้ใส่ของชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น กุญแจหรือปากกาได้นั่นเอง
9. กล่อง/ลัง
ถึงแม้จะไม่สวยงามหรือหรูหราสักเท่าไร แต่กล่องลังหรือกล่องกระดาษก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะแข็งแรง ทนทาน และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ จนกว่าจะเสื่อมสภาพ ยิ่งไปกว่านั้นถึงแม้จะเสื่อมสภาพแล้วก็ยังนำไปรีไซเคิลใหม่ได้อีก นอกเหนือจากนี้ยังมีหลายไซซ์ หลายทรง และมีพื้นที่เยอะ ช่วยให้จุของได้เพียบ ซึ่งทุกวันนี้หลายร้านก็มักจะมีให้บริการฟรีหรือไม่ก็ขายในราคาไม่กี่บาทด้วย แต่ถ้าหากใครอยากประหยัดละก็ แนะนำให้นำกล่องที่มีที่บ้านมาใช้แทนจะดีกว่า อย่างไรก็ตามกล่องลังหรือกล่องกระดาษอาจจะพกพาไม่ค่อยสะดวกเท่าไร ดังนั้นจึงเหมาะกับคนที่รู้ตัวว่ากำลังจะออกไปซื้อของมากกว่าค่ะ
10. ตะกร้าหรือถังน้ำ
อีกหนึ่งไอเทมที่นำไปใช้แทนถุงพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือตะกร้าหรือถังน้ำ เพราะเป็นของใช้ในบ้านที่หาง่ายใกล้ตัว รวมถึงมีติดบ้านกันแทบทุกหลัง แถมยังใส่ของได้เยอะจุใจ แม้ว่าขั้นตอนการผลิตหรือวัตถุดิบอาจจะไม่ได้รักษ์โลกเท่าไร แต่ก็นำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายสิบครั้ง คุ้มค่ากว่าถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งแน่นอน อย่างไรก็ตามความใหญ่และเทอะทะอาจจะทำให้พกพาลำบากสักเล็กน้อย ดังนั้นจึงเหมาะกับคนที่รู้ตัวว่ากำลังจะออกไปซื้อของเป็นหลัก
จะเห็นได้ว่านอกจากการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกแล้ว ยังมีของใช้ใกล้ตัวให้เลือกอีกมากมายตามความชอบและความสะดวก เนื่องจากประเด็นสำคัญที่สุด คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่จัดการยากอย่างพลาสติกลงนั่นเอง