ละครเรื่อง “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” กำลังเริ่มเป็นที่พูดถึงในหมู่คนดูละคร เพราะนอกจากจะเป็นละครย้อนยุคสมัยโบราณของไทยที่กำลังเป็นที่นิยมแล้ว ยังสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ เพราะตัวละครสำคัญของเรื่องเป็นหมอยาโบราณนั่นเอง
ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง เรื่องย่อ ละครช่อง 3
เผยโฉม “ผ่อง” สาวโรคร้าย “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” หายแล้วช่างงามยิ่งนัก!
โรคระบาดในอดีตที่ปรากฎอยู่ในละคร คือโรค “คุดทะราด” ชื่ออาจไม่ค่อยคุ้น เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันดีกว่า
โรคคุดทะราด คืออะไร?
โรคคุดทะราด (Yaws) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อ Treponema (Treponematosis) ที่ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดต่อกันได้ง่ายจากการสัมผัส
การระบาดของโรคคุดทะราดในไทย
ในอดีตราว พ.ศ. 2533 เคยพบผู้ป่วยในไทยจำนวน 54 ราย อายุตั้งแต่ 2-79 ปี มากกว่า 50% เป็นผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2535-2539 พบการระบาดบ้างประปรายในบางปี และในตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นก็ไม่พบู้ป่วยโรคนี้อีกเลย
อาการของโรคคุดทะราด
ระยะแรก จะพบรอยของโรคบนผิวหนัง เป็นแผลแบบรอยย่นปูด มักพบที่หน้า และขา ไม่มีอาการเจ็บปวด แต่อาจพบอาการแทรกซ้อน แผลอาจกลายเป็นตุ่มสีม่วงเหมือนผลราสเบอร์รี่ หรือตุ่มอาจแตกเป็นแผลเน่าเปื่อย โดยแผลเหล่านี้อาจเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
ระยะสอง อาจพบผื่นนูนกระจายทั่ว เป็นจุดด่างแบบเป็นเกล็ด เป็นระยะที่เกิดขึ้นสั้นๆ หลังการรักษาในระยะแรก อาจพบเห็นของเหลวตามรอยพับของผิว รอยแผลเริ่มมีหนังหนาคล้ายหนังคางคกบนฝ่ามือ และฝ่าเท้า และอาจเป็นแผลซ้ำซากที่เป็นๆ หายๆ เริ่มมีอาการเจ็บปวด และอาจทำให้พิการได้
ระยะที่สาม หรือระยะสุดท้าย จะไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อโรค และรอยโรคจะเริ่มเห็นว่าผิวหนัง และกระดูกถูกทำลาย โดยเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลาหลายปี หรือหลังจากติดเชื้อ 5 ปี
ส่วนใหญ่โรคคุดทะราดไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ถึงขั้นร่างกายผิดสัดส่วน และพิการได้
การแพร่เชื้อโรคคุดทะราด
สามารถแพร่เชื้อโรคได้โดยตรงจากการสัมผัสกับนํ้าเหลืองจากแผลของผู้ป่วยใน ระยะที่หนึ่ง และระยะที่สอง ส่วนการแพร่โรคทางอ้อม จะมาจากการปนเปื้อนเชื้อของเครื่องใช้ หรือวัสดุต่างๆ ซึ่งมีการทิ่ม ตํา หรือเจาะไปในผิวหนัง อาจเกิดจากการเกา หรือแมลงวันซึ่งมาเกาะบนแผลเปิดของผู้ป่วย
วิธีรักษาโรคคุดทะราด
แพทย์แผนปัจจุบันจะใช้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) สำหรับผู้ป่วย และผู้ที่สัมผัสกับแผล ที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยฉีดยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ขนาด 1.2 ล้านหน่วยเข้ากล้ามครั้งเดียว และเด็กอายุตํ่ากวา 10 ปี ใช้ขนาด 0.6 ล้านหน่วย
วิธีป้องกันโรคคุดทะราด
เนื่องจากเป็นโรคติดต่อในอดีตที่ไม่พบในปัจจุบันแล้ว จึงไม่น่ากลัวอะไร แต่วิธีป้องกันโรคคุดทะราดโดยทั่วไป ทำได้โดยการ
รักษาความสะอาดของตัวเราให้ดี ไม่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรก และระยะสองที่สามารถแพร่เชื้อโรคได้
ไม่ใช้เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย
ต้องรีบเข้ารับการรักษากับแพทย์โดยเร็ว เพื่อทั้งกำจัดเชื้อโรค และดูแลรักษาแผลให้หายด้วย