ริมฝีปากแห้งแตก ไม่ชุ่มชื้น บางทีปากแห้งแตกเป็นขุย และถลอกเป็นแผลจนเจ็บ เอ…ริมฝีปากบอกโรคอะไรไหม แล้วจะแก้ปากแห้งยังไงให้หายสนิท
ปากแห้ง แตก ลอกเป็นขุยจนลิปมันยังเอาไม่อยู่ ปากแห้งบ่อยๆ แบบนี้ต้องเช็กหน่อยแล้วค่ะว่าริมฝีปากแอบส่งสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพอยู่หรือเปล่า ดังนั้นลองมาดูกันว่า ปากแห้งเกิดจากอะไรได้บ้าง ริมฝีปากที่ไม่ชุ่มชื้นบอกโรคได้ไหม แล้ววิธีแก้ปากแห้งให้หาย ควรทำยังไงดี
ปากแห้งเกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการปากแห้งเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะสาเหตุใกล้ๆ ตัว ที่หลายคนทำเป็นประจำในทุกๆ วัน เช่น…
– เลียริมฝีปากบ่อย เอนไซม์ในน้ำลายจะยิ่งทำให้ปากแห้งมากขึ้นได้
– ดื่มน้ำน้อย ทำให้ร่างกายขาดความชุ่มชื้น เป็นสาเหตุทำให้ปากแห้งได้
– การอยู่ในห้องแอร์นานเกินไป อากาศที่เย็นและแห้งจะดึงเอาความชุ่มชื้นจากร่างกายออกไป ส่งผลให้ปากแห้ง ผิวแห้งได้
– นอนอ้าปาก หรือนอนกรน น้ำลายจะถูกผลิตลดน้อยลง ส่งผลให้รู้สึกปากแห้ง คอแห้งมากๆ ตอนตื่นนอน
– ติดลิปบาล์ม ซึ่งแม้ว่าการใช้ลิปบาล์มอาจช่วยแก้ปากแห้งได้แค่ชั่วคราว แต่ในระยะยาวจะทำให้ปากแห้งยิ่งขึ้นเนื่องจากสารในลิปบาล์มจะดูดความชื้นออกจากริมฝีปาก ทำให้ต้องทาลิปบาล์มบ่อยครั้งขึ้นด้วย
– สารเคมีบางอย่าง เช่น สารเคมีในยาสีฟัน สารเคมีในน้ำยาบ้วนปาก หรือสารเคมีในลิปสติก อาจส่งผลให้ริมฝีปากเกิดอาการระคายเคือง แห้ง แตก เป็นขุยได้
และนอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว อาการริมฝีปากแห้ง แตก เป็นขุย ไม่ยอมหายสักที นี่อาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่ซ่อนอยู่ก็ได้นะคะ
ริมฝีปากบอกโรค ปากแห้ง เป็นโรคอะไร
บางคนมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ ซึ่งอาการปากแห้งแตกก็สามารถบอกโรคที่เป็นอยู่ได้นะคะ ดังนี้เลย
1. ภาวะขาดน้ำ
ภาวะขาดน้ำ คือ ภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่บางชนิดมากเกินไปจนทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ โดยภาวะขาดน้ำมักจะเกิดจากการท้องเสียอย่างรุนแรง หรือท้องร่วง พบได้สูงในเด็กโดยเฉพาะเมื่ออายุต่ำกว่า 5 ปี และในผู้สูงอายุ
ทั้งนี้อาการเบื้องต้นของภาวะขาดน้ำจะสังเกตได้ว่ามีอาการกระหายน้ำมาก ริมฝีปากแห้ง ช่องปากแห้ง ผิวแห้ง เหนื่อยง่าย ปัสสาวะน้อย ปวดศีรษะ และวิงเวียน นอกจากนี้หากปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำมากๆ หรือดื่มน้ำไม่พอ อาการป่วยด้วยโรคต่างๆ อาจตามมาในไม่ช้า
– 6 ปัญหาสุขภาพเสี่ยงป่วยแน่ แค่เราดื่มน้ำไม่พอ
2. โรคภูมิแพ้
บางคนมีอาการภูมิแพ้โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อน ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถสังเกตอาการแพ้ของตัวเองได้ง่ายๆ เช่น หากปากแห้ง แตก ลอก ไม่ยอมหาย อาจเป็นเพราะเราแพ้ยาสีฟัน แพ้ลิปสติก แพ้เครื่องสำอางที่ใช้กับริมฝีปาก หรือหากปากแห้งแตกเฉพาะรอบๆ ริมฝีปาก อาจแพ้โฟมล้างหน้า หรือเครื่องสำอางที่ใช้อยู่เป็นประจำก็เป็นได้
และนอกจากเครื่องสำอางแล้ว อาหารก็มีส่วนที่ทำให้ปากแห้งได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในคนที่มีอาการแพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่วลิสง นมวัว หรืออาหารทะเล เป็นต้น เมื่อริมฝีปากสัมผัสกับอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ริมฝีปากอาจแห้ง แตก และลอกจนเป็นแผลได้
3. โรคเบาหวาน
อาการของโรคเบาหวานจะส่งผลให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อย อีกทั้งต่อมน้ำลายของผู้ป่วยโรคเบาหวานยังไม่สามารถผลิตน้ำลายออกมาได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายของผู้ป่วยขาดความชุ่มชื้นจนเป็นเหตุให้ปากแห้ง คอแห้ง และผิวหนังแห้งแตกบ่อยๆ
4. ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย
ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Xerostomia เป็นความผิดปกติที่ทำให้การไหลของน้ำลายลดลง โดยอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ต่อมน้ำลายทำงานผิดปกติ การสูญเสียน้ำและแร่ธาตุในร่างกายจนเกิดภาวะขาดน้ำ
รวมไปถึงในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ป่วยที่ได้รับรังสีรักษามะเร็งบริเวณศีรษะและใบหน้า ปัจจัยเหล่านี้มักจะส่งผลให้ต่อมน้ำลายสูญเสียการทำหน้าที่ไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี เนื่องจากต่อมน้ำลายมักอยู่ในบริเวณที่ได้รับรังสี ดังนั้นการทำเคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง และโรคทางระบบต่างๆ บริเวณศีรษะและใบหน้าก็เป็นสาเหตุที่ทำต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายน้อยจนเกิดอาการปากแห้ง คอแห้งได้ นอกจากนี้อาการปากแห้งอาจจะเกิดจากผลข้างเคียงของยาที่ผู้ป่วยได้รับในการรักษาโรคทางระบบอื่นๆ ได้อีกด้วย
5. โรคโชเกร็น (Sjogren”s syndrome)
โรคโชเกร็น คือ โรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง โดยโรคนี้จะมีการอักเสบเรื้อรังอย่างช้าๆ โดยเฉพาะอาการอักเสบบริเวณต่อมที่มีท่อ ทั้งนี้อาการของโรคโชเกร็นจะมีลักษณะเด่นๆ คือกลุ่มอาการแห้ง 3 อย่าง อันได้แก่ กระจกตาแห้ง เยื่อบุตาขาวอักเสบจากความแห้ง และอาการปากแห้ง
นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคโชเกร็นยังจะมีอาการในระบบอื่นๆ เช่น อาการทางผิวหนัง ข้อ ปอด ไต เส้นเลือด และเส้นประสาท โดยกลุ่มอาการจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มปฐมภูมิซึ่งไม่ทราบสาเหตุและไม่พบโรคอื่นใดเพิ่ม และกลุ่มทุติยภูมิ ซึ่งมีสาเหตุหรือพบร่วมกับภาวะหรือโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรครูมาติกที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านของตนเอง เช่น โรค RA โรคลูปัส โรคหนังแข็ง เป็นต้น
วิธีแก้ปากแห้งให้หายขาด
อาการปากแห้งรักษาไม่ยากค่ะ โดยเฉพาะคนที่มีอาการปากแห้งเนื่องจากพฤติกรรมทำลายความชุ่มชื้นในร่างกายของตัวเอง โดยเรามีวิธีแก้ปากแห้งมาแนะนำ ดังนี้
* ดื่มน้ำมากๆ โดยควรดื่มน้ำ 6-8 แก้ว หรือประมาณ 1.5 ลิตรต่อวัน
* ล้างปากทุกครั้งเมื่อรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังรับประทานผลไม้ เพราะกรดจากผลไม้อาจลดความชุ่มชื้นของริมฝีปากได้
* พยายามอย่าเลียริมฝีปากบ่อยๆ หากรู้สึกว่าริมฝีปากแห้ง ให้ดื่มน้ำแทน
* เปลี่ยนจากลิปสติกไร้สีหรือลิปบาล์มเป็นปิโตรเลียมเจลที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติทาริมฝีปากบ่อยๆ
* หลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่มีฟองมาก หรือน้ำยาบ้วนปากที่มีรสเผ็ด แสบปากมาก
* อมน้ำแข็ง หรือลูกอมปราศจากน้ำตาลเพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำลาย ในกรณีที่รู้สึกว่าน้ำลายน้อย ขมปาก ปากแห้งเนื่องจากน้ำลายน้อย
* หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดหรือเค็มจัด รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีฤทธิ์ขับน้ำออกจากร่างกาย
* ลดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
* สครับริมฝีปากด้วยน้ำตาลทรายแดง ผสมกับน้ำผึ้งและน้ำมันมะกอกอย่างละ 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน จากนั้นให้นำมาสครับที่ริมฝีปากเบาๆ ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาทีแล้วใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นเช็ดออก วิธีนี้จะช่วยทำให้ริมฝีปากที่ลอกหลุดออกได้ค่ะ แต่ก็อย่าทำบ่อยจนเกินไป เพราะจะทำให้ปากแห้งไปกันใหญ่ แล้วก็อย่าลืมทาลิปบาล์มบำรุงทุกครั้งหลังสครับเพื่อให้ริมฝีปากชุ่มชื้นด้วยนะคะ
* เยียวยาด้วยน้ำผึ้ง เนื่องจากน้ำผึ้งมีสรรพคุณลดอาการอักเสบและฆ่าเชื้อโรคอ่อนๆ อีกทั้งยังช่วยสมานแผลได้ ดังนั้นหากมีอาการปากแห้งแตกจนเป็นแผล มีเลือดออก ให้นำน้ำผึ้งมาทาที่ริมฝีปาก ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จากนั้นให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นเช็ดออก ทำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
* จิบน้ำตะไตร้บ่อยๆ เพราะน้ำตะไคร้มีสรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำ หากใครมีอาการรร้อนใน ปากแห้ง แตก ดื่มน้ำตะไคร้บ่อยๆ จะช่วยบรรเทาอาการให้หายได้
* รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี เช่น ข้าวกล้อง ผักใบเขียว ตับ และถั่วชนิดต่างๆ เพราะวิตามินบีมีส่วนช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกายให้กลับมาเป็นปกติได้
อย่างไรก็ตาม ในคนที่มีอาการปากแห้งเนื่องจากโรคที่เป็นอยู่ แนะนำให้ดื่มน้ำเยอะๆ ร่วมกับรักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อรักษาโรคหายแล้ว อาการปากแห้งซึ่งเป็นอาการข้างเคียงของโรคหรือยาที่ได้รับก็จะหายขาดไปด้วยนั่นเองค่ะ