ช่วงหลังมานี้ กระแสโรคซึมเศร้าในหมู่ชาวไทยเริ่มเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่ก็มักเป็นวัยรุ่นทั้งนั้น เมื่อลองเช็กอาการของผู้ป่วยตามอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่าตรงกับตัวเองหลายข้อ ก็พากันเครียด วิตกกังวลหนักกว่าเดิมไปอีก ทั้งที่ความจริงแล้ว Gangbeauty จะบอกให้ ว่าอาการบางอย่างที่เธอเป็น แม้จะคล้ายโรคซึมเศร้า ก็อาจไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าซะทีเดียวหรอกนะ ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามีอาการที่คล้ายโรคซึมเศร้าอยู่อีกตั้ง 3 แบบ!
1. ภาวะซึมเศร้าจากการปรับตัวกับปัญหาที่มากระทบไม่ได้
pxhere.com
ทุกวันเราเจอกับปัญหา และปัญหาก็อาจไม่ได้มาแค่เรื่องเดียวต่อวัน บางวันอาจจะมีปัญหาหลายอย่างเข้ามารุมเร้า เช่น ย้ายบ้าน ตกงาน เรื่องเงิน จนทำให้เธอรู้สึกว่ารับมือกับปัญหาเหล่านี้ไม่ไหวอีกแล้ว ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตึงเครียดนี้ไม่ได้จนกินเวลามากกว่า 1 อาทิตย์ อาการของภาวะนี้คือ เธอมักจะซึมเศร้า แต่ไม่รุนแรง เพราะถ้าเมื่อไหร่มีคนเข้ามาคุย มาปลอบใจ เธอยังรู้สึกดีขึ้นได้บ้าง อาจจะมีอาการเบื่ออาหารบ้าง แต่ก็นิดหน่อย พอกินได้ พอนอนได้ ถ้าเธอเริ่มปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในชีวิตของเธอได้เมื่อไหร่ อาการจะค่อยๆ หายไปเอง
2. โรคอารมณ์แปรปรวน
pixabay.com
ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการเหมือนคนเป็นโรคซึมเศร้า แต่ไม่นาน เพราะบางช่วงก็อาจอยู่ในอาการที่ตรงกันข้ามกับซึมเศร้าได้ด้วย เช่น อารมณ์ดีเกินไป พูดมาก ขยันมาก เชื่อมั่นในตัวเองมากกว่าปกติ ใช้เงินเปลือง เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์จะเรียกความร่าเริงผิดปกตินี้ว่า “ระยะแมเนีย” ผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนจะมีระยะแมเนีย สลับกับภาวะซึมเศร้าปะปนกันไปอยู่เสมอ
3. โรควิตกกังวล
pixabay.com
โรคนี้พบเจอบ่อยมากกว่าโรคซึมเศร้าซะอีก โดยอาการคือผู้ป่วยมักจะรู้สึกวิตกกังวล ห่วงนั่นห่วงนี่ และต่างจากโรคซึมเศร้าตรงที่ ผู้ป่วยโรควิตกกังวลนี้ จะมีอาการหายใจไม่ทั่วท้อง ใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่ายร่วมด้วย เบื่ออาหารบ้าง น้ำหนักลดลงแต่ก็ไม่มากเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และไม่รู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่ายในชีวิตเหมือนกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วย
ทางที่ดีที่สุด เมื่อพบว่าตัวเองเข้าข่ายโรคอะไรสักอย่าง รีบปรึกษาหมอเลยดีกว่าเนอะ!