ที่เคยคิดว่าการนอนหลับโดยไม่ฝันเลย แปลว่าเราหลับสนิท จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ?
ตามปกติแล้วมนุษย์เราทุกคนอาจจะนอน 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน และใช้เวลาในการ “ฝัน” เฉลี่ยในแต่ละคืนราว 2 ชั่วโมง อาจจะมีทั้งฝันดีจนไม่อยากตื่น ฝันร้ายจนตื่นมาพร้อมกับเหงื่อที่แตกพลั่กไปทั่วร่างกาย หรือฝันที่เนื้อเรื่องมั่วซั่วจนจับต้นชนปลายไม่ถูก
แต่ที่บางคนคิดว่า คืนไหนที่ไม่ได้ฝันเลย แปลว่าเราหลับสนิทดีสุดๆ จริงๆ แล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ?
“ไม่ฝัน” แปลว่า “นอนหลับสนิท” ?
จริงๆ แล้วมนุษย์เราฝันขณะนอนหลับทุกคืน ย้ำว่าทุกคืน เพียงแต่ในหลายๆ คืนคุณอาจจะจำไม่ได้ว่าฝัน ฝันไหนที่เราจำได้ คือฝันที่เราตื่นในขณะที่เรากำลังฝันไปกลางเรื่อง อาจจะเป็นช่วงที่เพิ่งเข้านอนได้ไม่นาน ช่วงกลางดึก หรือช่วงกำลังจะรุ่งเช้า หากคืนไหนที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ฝันเลย อาจเป็นเพราะเรานอนหลับๆ ตื่นๆ ไม่ได้นอนหลับยาวๆ จนทำให้เกิดความฝันมากกว่า
ทำไมเราถึง “ฝัน” ?
การนอนหลับของคนเรามักจะฝันอยู่เสมอ เป็นกระบวนการทางสมองที่ทำงานขณะนอนหลับ ใน 1 คืนเราไม่ได้ฝันแค่เรื่องเดียว โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคืนเราอาจฝันได้มากถึง 4-5 เรื่อง แต่เรามักจะจำความฝันได้ไม่หมดทุกเรื่อง มักจะจำเรื่องสุดท้ายที่ฝันได้เพราะเป็นช่วยใกล้จะตื่นมากที่สุด บางคนฝันเป็นภาพสี บางคนอาจฝันเป็นภาพขาวดำ โดยทฤษฎีแล้วไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด
สาเหตุที่เราฝันยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่ความฝันไม่ได้มีขึ้นมาเฉยๆ เพราะการที่เราฝันขณะนอนหลับเป็นการช่วยปลอบประโลมจิตใจราวกับได้ทำการบำบัดจิตด้วยตัวเองอย่างที่เราคาดไม่ถึง
ข้อดีของความฝัน
นอกจากความฝันตามความเชื่อทางไสยศาสตร์จะให้คำทำนายต่างๆ นานา ได้แล้ว ทางวิทยาศาสตร์เอง ความฝันก็มีประโยชน์ต่อเราเช่นกัน เราสามารถฝันได้ตั้งแต่เรื่องไร้สาระที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราในตอนนั้น ไปจนถึงเรื่องที่เราหวาดกลัว หรือกังวลในอดีต รวมไปถึงความทรงจำอันเลวร้าย สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แต่เราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพบกับสิ่งเหล่านั้น การที่เราฝันถึงสิ่งแย่ๆ เหล่านี้เป็นกระบวนการทางสมองที่อยากบำบัดจิตใจของเราเองให้คุ้นชิน และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่เราหวาดกลัว เมื่อเราเปิดใจยอมรับกับสิ่งเหล่านั้นในความฝัน จิตใต้สำนึกของเราก็จะเริ่มค่อยๆ ปรับตัว และรู้สึกหวาดกลัว หรือรู้สึกแย่ต่อเรื่องราวเหล่านั้นน้อยลงได้ ราวกับเราได้เล่าเรื่องที่เรากังวลใจให้กับจิตแพทย์ฟัง ดังนั้นจึงเรียกได้ว่า ความฝัน สามารถลดอาการของโรคซึมเศร้าได้
ในขณะเดียวกันหากเราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พบไม่เจอไม่เห็นเรื่องราวเหล่านั้นแม้กระทั่งในฝัน เราก็อาจจะต้องพบกับเรื่องแย่ๆ เหล่านั้นในความฝันไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น คุณอาจต้องเผชิญกับภาวะฝันร้ายซ้ำๆ เพราะคุณยังคงไม่สามารถปล่อยวางจากเรื่องนั้นๆ ได้ ดังนั้นหากคุณสามารถเผชิญกับสิ่งที่เราไม่อยากเผชิญในความฝันได้ คุณอาจสามารถปลดล็อกตัวเองจากสิ่งที่เรากังวล หรือความทรงจำที่เป็นบาดแผลในจิตใจลึกๆ ของคุณได้จากการฝัน
อย่างไรก็ตาม หากเรามีความฝันที่ดี ก็สามารถช่วยสร้างความทรงจำดี สร้างบรรยากาศที่ดีหลังจากตื่นนอนได้ ส่งผลต่อจิตใจที่เบิกบานไปตลอดทั้งวันได้ด้วยเช่นกัน
ทำอย่างไรเราถึงจะ “ฝันดี” ?
แม้ว่าฝันร้ายก็สามารถส่งผลดีต่อจิตใจของเราได้ แต่ถ้าเลือกได้หลายคนคงอยากมีฝันดีมากกว่า ปัจจัยที่จะทำให้เราฝันดีไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เพียงแต่มีปัจจัยเสริมบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อความฝันในค่ำคืนนั้นๆ ได้ นั้นคือสภาพจิตใจ และความรู้สึกนึกคิดของเราเองก่อนเข้านอน ใครที่เข้านอนหลังจากได้ดู หรือได้ฟังเรื่องราวดีๆ ก็จะมีโอกาสนอนหลับฝันดีมากกว่าคนที่ครุ่นคิดแต่เรื่องร้ายๆ เครียดๆ แม้กระทั่งสิ่งที่เกิดขึ้น คำที่พูด คนที่คุยด้วย เรื่องที่คุยกันระหว่างวัน ก็อาจจะมาโผล่ในความฝันของเราในค่ำคืนนั้นได้เช่นกัน
คุณภาพในการนอนก็สำคัญเช่นกัน อย่างที่บอกไปแล้วว่าการนอนหลับสนิทจะทำให้เราฝันได้ ดังนั้นการเตรียมตัวให้ร่างกาย และสมองผ่อนคลายอย่างเต็มที่ จึงจะช่วยให้เรานอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. อาบน้ำอุ่น หรือแช่น้ำอุ่นให้สบายตัว
2. ดื่มน้ำ หรือนมอุ่นๆ
3. ปรับอากาศในห้องนอนให้สบาย ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ให้ตัวแห้งไม่มีเหงื่อตลอดคืน
4. งดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด รวมถึงงดการดูทีวีก่อนเข้านอน
5. ปิดไฟในห้องนอนให้มืด หรือมีเพียงแสงไฟสลัวๆ
6. ปิดเพลง หรือเปิดเพียงเพลงเบาๆ ที่เป็นเพลงช้าฟังสบาย
7. จุดเทียนหอม หรือฉีดสเปรย์ที่มีกลิ่นหอมที่ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย เช่น กลิ่นของดอกลาเวนเดอร์
8. หากหลับตานอนเฉยๆ ไป 15-30 นาทีแล้วยังไม่ง่วง ให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเบาๆ ก่อนจนกว่าจะง่วง เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ (ยังคงงดเว้นจากทีวี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์)
9. ช่วงหลับตานอน ให้นึกถึงเรื่องดีๆ ที่เราอยากฝันถึง
หากสุดท้าย ทำทุกวิธีแล้วยังคงมีปัญหาในการนอนหลับอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำ sleep test วิเคราะห์ปัญหาการนอนหลับอย่างจริงจัง ผู้เข้ารับการตรวจควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคการนอนหลับโดยตรง ที่ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 2 โซน D โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หรือแผนกโรคการนอนหลับของโรงพยาบาลทั่วไป