ผ่อนคลายความกังวล ดีอย่างไร?
ไม่มีใครอยากเป็นคนขี้กังวล เพราะความกังวลทำให้เราไม่มีความสุข รู้สึกอึดอัดใจตลอดเวลา รู้สึกเครียด ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรทั้งสิ้น อยากให้เวลาแห่งความไม่สบายใจนี้ผ่านไปไวๆ เพื่อจะได้รู้คำตอบ ได้พบหนทางออกของปัญหาที่สร้างความกังวลให้แก่เรา
เวลาที่เรากังวล คนรอบข้างมักจะพูดว่า ไม่ต้องกังวลไปหรอก ทำใจให้สบาย เราจะผ่านมันไปได้ ซึ่งเป็นคำกล่าวที่จริง แต่กว่าจะผ่านมันไปได้บางคนก็อาจจะสุขภาพจิตแย่ไปเสียก่อน หากรับมือกับความกังวลไม่ถูกวิธี
บางคนอาจหาทางลืมความกังวลด้วยแอลกอฮอล์ ช็อปปิ้ง กินบุฟเฟ่ต์ ปาร์ตี้สุดเหวี่ยง และอีกหลายๆ คนปล่อยให้ตัวเองจมไปกับความกังวลนั้น ว้าวุ่น กระสับกระส่าย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำกิจกรรมอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากนอนคิดกังวล จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว คงต้องหาวิธีผ่อนคลายก่อนจะสายเกินไป
ปรับไลฟ์สไตล์ ผ่อนคลายความกังวล
ออกกำลังกาย
โดยปกติแล้วเราควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที ไม่ว่าจะเลือกออกกำลังกายแบบใด วิ่ง เดิน แอโรบิก ว่ายน้ำ ตีแบต ตีเทนนิส เพียงแค่ให้ร่างกายได้ขยับ มีเหงื่อออก ร่างกายก็จะหลั่งสารเคมีและฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายสงบ ช่วยให้อารมณ์ดี ลดความเครียดของจิตใจออกมา และยังช่วยให้สุขภาพร่างกายดีอีกด้วย
หลังจากออกกำลังกายจะช่วยให้เรากลับมามีสมาธิและรู้สึกสดชื่น รู้สึกมั่นใจในเรื่องต่างๆ มากขึ้นด้วย เมื่อเราออกกำลังกายเป็นประจำ เมื่อเกิดปัญหาจะไม่รู้สึกเครียดและกังวลมากเหมือนเดิม
แต่หากความกังวลความตื่นเต้นยังคงอยู่ ขอแนะนำให้ลองออกกำลังกายเบาๆ ยืดเส้นยืดสายในช่วงก่อนเริ่มกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนวันสุดกังวลของคุณให้เป็นวันที่มั่นใจ คลายความกังวลในใจได้ทันทีแน่นอน
แนะนำคลิปออกกำลังกาย ขยับร่างกายได้ทุกวัน
กินอาหารอารมณ์ดี
ไม่มีอาหารชนิดไหนที่ช่วยให้ความกังวลหายไปได้ทันที แต่อาหารบางอย่างก็ช่วยให้เราอารมณ์ดี เพิ่มเมลาโทนินในร่างกาย ให้เรานอนหลับสบาย ให้เรารู้สึกสงบจิต เช่น นมอุ่นๆ ธัญพืช ถั่ว ขนมปังโฮลวีต กล้วยหอม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นต้น
นอกจากนี้ในระหว่างวันเราควรเลือกกินอาหารให้ครบห้าหมู่ กินอย่างพอดีในแต่ละมื้อ ทั้งมื้อหลักและมื้อของว่าง งดของมันของทอด เลี่ยงอาหารรสจัดหวานมันเค็ม และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพียงแค่นี้ก็จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง สุขภาพดี พร้อมรับมือปัญหาความกังวลต่างๆ ได้อย่างสบายๆ ไม่รู้สึกวิตกกังวลจนเกินไป
อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยผ่อนคลายคามเครียดได้ดี คือ อนุญาตให้ตัวเองได้กินของที่ชอบบ้าง แม้จะแย่ต่อสุขภาพยังไงแต่ก็ดีต่อใจ แต่กินอย่างพอดี กินพอให้รู้สึกว่ามีความสุขแล้ว หลังจากนั้นก็ต้องกลับมามีวินัยเลือกกินแต่ของที่ดีมีประโยชน์ด้วยนะ
พักผ่อนร่างกาย
เมื่อเกิดความกังวลหรือเครียด ร่างกายจะต้องการการพักผ่อนมากกว่าปกติ และหากเรานอนไม่พอ ร่างกายก็จะอ่อนเพลีย มึนงง ทำอะไรไม่ถูก จนสุดท้ายก็เกิดเป็นความกังวลต่อจิตใจที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติ
แม้จะเครียดอย่างไรเราก็ควรนอน แต่แม้จะบอกให้นอนแต่มันก็นอนไม่หลับ พยายามข่มตาแล้วยังไงก็ไม่หลับ สมองคิดวนไปวนมา หยุดคิดไม่ได้ เพราะความกังวลมันคงอยู่ ถ้าอยากให้ความกังวลหายไป อยากกลับมามีสติและสมาธิอีกครั้ง ไม่ว่ายังไงก็ต้องนอนหลับให้ได้
ในช่วงอาจพึ่งอาหารเสริมที่ช่วยให้นอนหลับ เช่น เมลาโทนิน ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เสมอ และหลังจากนี้ไปควรฝึกนิสัยการนอน ควรนอนก่อนเวลา 23.00 น. และควรนอนให้ได้อย่างน้อยวัน 6 ? 8 ชั่วโมง โดยควรปรับสภาพแวดล้อมห้องนอนให้ดีต่อการนอน พยายามทำให้ห้องมืดที่สุด มองเห็นแสงรำไรจากผ้าม่านก็เพียงพอแล้ว ทำห้องให้เงียบ ปรับอุณภูมิในห้องให้พอดีต่อการนอน ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป งดเล่นโทรศัพท์มือถือเมื่ออยู่บนเตียง ให้ร่างกายได้เคยชินว่า เมื่ออยู่บนเตียงจะต้องนอนหลับเท่านั้น และเมื่อนอนหลับสนิทได้เป็นนิสัย สมองก็จะแจ่มใส รู้สึกมั่นใจ รับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว เรื่องกังวลแค่ไหนก็ไม่กลัวอีกต่อไป
หากความกังวลมากระทันหัน นอนพักตรงนั้นไม่ได้ ก็ขอให้ลองหลับตา หายใจเข้าออกช้าๆ สักประมาณ 10 ? 20 นาที จะรู้สึกว่าสมองปลอดโปร่งขึ้น ช่วยให้เราสงบผ่อนคลายได้ดีขึ้น
พักผ่อนจิตใจ
จิตใจก็เหมือนกับร่างกาย หากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีและเหมาะสม จิตใจก็จะได้รับพักผ่อน ทำให้จิตใจสงบ ไม่หวั่นไหวต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นความกังวลที่มากเกินไป
การพักผ่อนของจิตใจนั้น ทำได้ง่ายๆ เริ่มได้ทันที เพียงแค่เลือกทำกิจกรรมที่เราพอใจและมีความสุข เช่น นั่งสมาธิ แช่น้ำอุ่น เล่นโยคะ ออกกำลังกาย ไปนวดสปา แเล่นกับสัตว์เลี้ยง อ่านหนังสือ ฟังเพลง เดินเล่น ไปท่องเที่ยว แต่ไม่แนะนำให้ไปช็อปปิ้งเพื่อคลายกังวลเพราะอาจจะทำให้ใช้เงินมากกว่าที่คิดจนกลับมานั่งกลุ้มกังวลเรื่องเงินอีก
Work Life Balance
งานคืออีกหนึ่งสาเหตุของความกังวลอันไม่มีที่สิ้นสุดในจิตใจ เมื่อเรื่องเก่าผ่านไปเรื่องใหม่ก็มาอีก และไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร ก็ขอให้ลองพยายามใช้ชีวิตอย่างสมดุลให้ได้ ไม่ทำงานหนักจนเกินไป และไม่เรื่อยเปื่อยจนเกินไป
เมื่อไรที่งานทำให้เครียดกังวลมากไป ก็ลองออกห่างจากมันดูสักพัก ใช้วันหยุดพักร้อนไปพักผ่อนชาร์จแบตให้ร่างกายและจิตใจ หรือหาทางอยู่กับมันให้ได้อย่างมีความสุขในแต่ละวัน เช่น หากเป็นงานที่ไม่ได้ใช้สมาธิมาก อาจจะฟังเพลงไปขณะทำงานด้วย หรือใช้ช่วงเวลาพักเที่ยงดูซีรีส์เรื่องโปรด หรือเดินไปคุยกับกลุ่มเพื่อนในช่วงพัก และอีกหนึ่งเคล็ดลับคือ แบ่งใช้เงินเดือนซื้อความสุขความสบายเพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจไปเลย เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ของกินสุดอร่อย อุปกรณ์เทคโนโลยีที่จะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น วิธีนี้จะทำให้เรารู้สึกดีที่ได้ทำงานและมีอะไรให้รอคอย ไม่รู้สึกว่าทำงานหนักไปแล้วไม่ได้อะไรกลับมา
ระบายออกมา
ความกังวลก็เหมือนกับลูกโป่งที่อัดอากาศไว้ด้านใน หากยิ่งเพิ่มอากาศเข้าไปเรื่อยๆ สักวันลูกโป่งก็อาจจะแตกออกมาได้ ดังนั้น เมื่อรู้สึกอึดอัด กังวลใจอย่างบอกไม่ถูก หาทางระบายมันออกมาดีกว่า เช่น การคุยกับเพื่อนสนิท คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาที่เราประสบอยู่ หรือคุยกับจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมก็ได้
บางครั้งเราอาจจะไม่ได้รับคำตอบหรือหนทางการแก้ปัญหา แค่เพียงการได้คุยระบายความรู้สึกออกมาก็ช่วยให้เรารู้สึกดีได้แล้ว ส่วนเพื่อนที่เป็นคนรับฟัง หากแก้ปัญหาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ขอแค่เป็นผู้ฟังที่ดี ตั้งใจฟัง และไม่นำความกังวลของเราไปเม้าท์ต่อก็พอแล้วล่ะ
กังวลมากไป มีแต่สุขภาพจิตแย่ กังวลนิดๆ ให้ฃีวิตมีเรื่องตื่นเต้นดีกว่า จริงๆ แล้วการเป็นคนขี้กังวลนิดๆ จะช่วยให้ชีวิตเราประสบความสำเร็จได้ เพราะความกังวลจะทำให้เราเป็นคนรอบคอบ ไม่ประมาท จะทำอะไรก็มักตรวจเช็คอย่างละเอียดและมักคิดถึงสถานการณ์แย่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองเสมอ จึงทำให้พวกเขาหาทางรับมือไว้ก่อน และเมื่อเกิดขึ้นมาจริงๆ พวกเขาก็รับมือได้สบายๆ (แม้อาจจะดูตื่นเต้นลนลาน) เราอาจบอกได้ว่า การเป็นคนขี้กังวลนิดๆ ช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ดีกว่าคนที่มั่นใจเกินร้อยเสียอีกนะ