มีคนไม่น้อยตั้งคำถามว่า จะละความโกรธได้อย่างไรรู้สึกผิดทุกครั้งที่โกรธออกไป ชอบมีคนทำให้โกรธ ระงับความโกรธไม่ได้ โกรธง่ายหายช้า ชอบโกรธและผูกโกรธ บางคนถึงขนาดบอกว่า ตนเองชอบขับเคลื่อนชีวิตด้วยความโกรธ
ความโกรธเป็นการแสดงออกที่หยาบที่สุดของกิเลสมนุษย์
บางคนคิดว่านั่นคือการแสดงพลังอำนาจ แต่ความจริงเขาหารู้ไม่ว่า ความโกรธเป็นไฟเผาลนใจเราให้เสียพลังอำนาจ ทำให้ระบบการทำงานของหัวใจและเลือดในร่างกายผิดปกติ
ข้าพเจ้าเคยทดสอบการตรวจวัดหัวใจและเลือดของคนคนเดียวกันขณะที่นิ่งสงบเปรียบเทียบกับเวลาโกรธ เห็นได้ชัดว่า การเต้นของหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ความดัน และความสะอาดของเม็ดเลือดต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราจึงเห็นคนโกรธจัดบางคนถึงกับเป็นลมแน่นิ่งไป
ความโกรธเผาใจเราก่อน จึงลามออกมา
ความโกรธมีแต่ให้โทษ ไม่เคยให้คุณแก่ใคร
เผาผลาญคนอื่น ใครชอบโกรธโกรธง่าย มีอะไรนิดหน่อยไม่ถูกใจก็โกรธทันที ไม่ยับยั้งตั้งสติอดทนไม่ได้ เท่ากับคนคนนั้นกำลังนอนอยู่ในกองเพลิง คิดดูเวลาเกิดเพลิงไหม้ลุกโพลง ใครอยู่ในกองเพลิงก็ต้องถูกเผาให้ตายสถานเดียว ต้องรีบออกมาจากกองเพลิงให้ได้โดยเร็ว
ความโกรธก็เช่นกัน เมื่อรู้ตัวต้องรีบออกจากกองเพลิงคือความโกรธนั้นโดยเร็ว เพราะจะทำให้เราตายจากมิตรสหาย ตายจากความเชื่อถือของคน ตายจากสถานะที่ควรจะได้รับ เช่น การเป็นผู้นำ ถ้าเราขับเคลื่อนชีวิตด้วยความโกรธ เราจะไม่ได้ยินคำเตือนจากคนดี จะพบแต่คนประจบสอพลอ เอาใจเรา ตามใจเราคนพวกนี้เป็นมิตรปอกลอก กลิ้งกลอกไปวันๆ
คนมักโกรธ ยากจะหามิตรแท้ในชีวิต
เขาจะคบเฉพาะคนที่ลงให้เขา ยอมเขา ยกเขาให้เป็นที่หนึ่งเท่านั้น ไม่ขัดใจเขาไม่ว่าถูกหรือผิดกับคำถามที่ว่า
“โกรธแล้วได้อะไร” ตอบว่า “โกรธแล้วได้ความเสื่อม ความมืดบอดทางสติปัญญาไร้มิตรภาพและความจริงใจ สุขภาพเสื่อมโทรม เกิดโรคร้ายตามมาที่สำคัญ โกรธทุกครั้งเสียใจทุกคราว”
7 วิธี สลายความโกรธ
ความโกรธมักเข้ามาเยือนโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว ทั้งๆ ที่สาเหตุนั้นอาจไม่ได้มาจากตัวเราเอง แต่เกิดจากปัจจัยภายนอกมาเป็นตัวกระทบ อีกทั้งความโกรธยังเปรียบเสมือนกับไฟไหม้ป่า ที่ทำร้ายทั้งตัวเราและลามไปถึงคนรอบข้าง เมื่อเกิดความโกรธขึ้นแล้วเราจะหาวิธีบรรเทาสถานการณ์นั้นได้อย่างไรบ้าง ลองมาทำตามวิธี สลายความโกรธ ตามคำแนะนำของท่านว.วชิรเมธี กันดูค่ะ
1. งดการตัดสินใจในขณะนั้น เพราะอารมณ์ชั่ววูบที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
2. งดการพูดในขณะนั้น เพราะอาจจะพลั้งเผลอพูดในสิ่งไม่ดีที่อาจต้องกลับมาเสียใจในภายหลัง
3. ขอตัวออกมาจากสถานการณ์นั้น เพราะอาจถูกกระตุ้นเร้าจนควบคุมตัวเองไม่ได้
4. ย้ายตัวเองไปทำอย่างอื่น เพื่อเบี่ยงเบนจิตออกจากความโกรธ
5. เจริญเมตตา พิจารณาว่าทั้งเราทั้งเขาที่กำลังโกรธกันล้วนอยู่ในวัฏจักรแห่งความทุกข์
6. หาโอกาสสวดมนต์ ฝึกสมาธิภาวนา ให้จิตมีฐานที่มั่นคง เวลาถูกกระทบจะได้ไม่กระเทือน
7. หมั่นเจริญสติในชีวิตประจำวันอยู่เนืองๆ เมื่อพลังสติมีมากขึ้น จะรู้ทันความโกรธ